การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการ (e-Services)
ผลจากการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการพัฒนาระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการและระบบการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบาย e-Government ของรัฐบาล เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและบริการของภาครัฐ รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆได้สะดวกรวดเร็ว ในทุกกระทรวง ทบวง กรม นับตั้งแต่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินโครงการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรกนิกส์ ทำให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารภาครัฐไปยังกระทรวง กรม และจังหวัดอย่างกว้างขวาง ในส่วนกลาง 247 หน่วยงาน และส่วนภูมิภาค 75 จังหวัด 210 หน่วยงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 (ข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รายงานประจำปี พ.ศ. 2551
http://www.mict.go.th/more_news.php?cid=12&filename=index)
จากการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศร่วมกัน (Common Information Infrastructure) ทำให้เกิดการพัฒนาเว็บไซต์ในแต่ละกระทรวง กรมจังหวัดและอำเภอ และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลของบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐด้วยระบบ Web Servicesรวมทั้งมีการวางแผนพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปผ่าน Single Window อย่างต่อเนื่องทำให้การพัฒนาบริการรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นอีกมาก เช่น ศูนย์บริการร่วม หรือ Service Link: SL ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนหรือ One Start One Stop Investment Center: (OSOS) ศูนย์กลางบริการภาครัฐ(e-citizen) ตลอดจนเคาน์เตอร์บริการประชาชน หรือ Government Counter Services :GCS / One Stop Services ซึ่งการให้บริการในลักษณะของศูนย์บริการร่วม (SL) และเคาน์เตอร์บริการประชาชน (GCS) ดังกล่าวสามารถโต้ตอบผ่านกระดานถามตอบ (Web Board) ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากการเปิดมิติใหม่ในช่องทางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ทำให้ประชาชน สามารถดำเนินธุรกรรมกับส่วนราชการทั้งหมดได้อย่างสะดวกสบาย ไม่เสียเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย ภายในที่เดียว (Single Point Service) ได้ที่ เว็บไซต์ของศูนย์กลางการบริการภาครัฐ (e-citizen.go.th) นอกจากนี้ในระดับชุมชน ยังมีศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารจากชุมชนสู่สังคมโลก จากการจัดระบบบริการในลักษณะ e-Services แบบ One Stop Services ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในทุกระดับ ตลอด24 ชั่วโมง เช่น การรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากประชาชน การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลทั้งรายการข้อมูลประวัติการทะเบียนราษฎร์ บัตรประจำตัวทะเบียนทหาร หนังสือเดินทาง ประกันสังคม สิทธิเลือกตั้งรวมทั้งรับจด รับแจ้ง การเกิด การตาย ได้ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสามารถรายงานผลการดำเนินการตามโครงการ ออกรายงานสถิติ เชิงวิเคราะห์ ผลการประชาคม ฯลฯ ได้ ซึ่งมีช่องทางเข้าถึงบริการของหน่วยงาน ต่าง ๆ โดยผ่านเว็บไซต์กระทรวง ซึ่งเชื่อมต่อลงไปถึงกรม กอง และหน่วยงานในสังกัด ส่วนราชการในต่างประเทศทั้งสถานเอกอัครราชทูตสถานกงสุลใหญ่ และสถานกงสุลก็มีเว็บไซต์ เป็นทางเชื่อมให้ประชาชนใช้เข้าถึงหน่วยงานของราชการไทยในต่างประเทศได้ ทั่วโลกเช่นเดียวกันด้วย
เว็บไซต์ http://www.thaiembassy.org
นอกจากนี้ การบริการในระบบราชการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีช่องทางที่จัดไว้เป็นการเฉพาะกลุ่มผู้รับบริการ หรือบริการเฉพาะทาง อีกหลายช่องทาง(ภาพที่ 2.2-2)
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 3 มีนาคม 2557 16:03:08 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 3 มีนาคม 2557 16:03:08