Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ยุทธศาสตร์ปี 2551-2555 / ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 (มีส่วนร่วม) / การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

ที่มา | ผู้รับผิดชอบ: นางพรทิพย์ แก้วคำมูล


1. ที่มา
1.1  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  หมวด 6 รัฐสภา  หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น  และหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
1.2 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หลักการนี้ได้ปรากฏในมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545  ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคสามว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ 
1.3 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  หมวดที่ 2 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน (3) ได้กำหนดให้ในการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการนั้น  ก่อนเริ่มดำเนินการส่วนราชการนั้นจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับจากภารกิจนั้น และ (4) ให้ถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ที่จะต้องคอยรับฟังความคิดเห็นและความพึงพอใจของสังคมโดยรวมและประชาชนผู้รับบริการ  เพื่อปรับปรุงหรือเสนอแนะต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้มีการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการให้เหมาะสม
1.4  แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ  (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) ได้ให้คุณค่าความสำคัญและยึดมั่นในปรัชญา หลักการ และแนวทางของการให้ประชาชนเป็น ศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับ         การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2  ปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิง บูรณาการ เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามี ส่วนร่วม 
1.5  การปฏิรูปทางการเมืองและกระแสความต้องการของประชาชนที่ต้องการเข้ามามี              ส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวโดยเปิดระบบราชการเข้าสู่กระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participative Democracy) ที่ยอมรับและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงาน  เพื่อให้มีกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจที่รอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชน  อันนำไปสู่ประสิทธิภาพของระบบราชการที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน


2. ความหมาย/คำจำกัดความ
การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance)  หมายถึง  การบริหารราชการ     ที่นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผน  การตัดสินใจ                การดำเนินงาน  และการประเมินผล โดยมีการจัดระบบงาน/วิธีการทำงาน  การจัดโครงสร้าง  และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ
การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) มีความหมายที่หลากหลายโดยเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมและการเมือง ในที่นี้ หมายถึง กระบวนการที่ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย                ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ของการบริหาร ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลการปฏิบัติงาน  การร่วมแสดงทัศนะความคิดเห็น  การร่วมเสนอปัญหาและความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น  การร่วมคิดแนวทางการแก้ไขปัญหา  การร่วมในกระบวนการตัดสินใจ  การร่วมในการดำเนินการ  และการร่วมติดตามประเมินผล  รวมทั้ง การร่วมรับผลประโยชน์จากการพัฒนา   ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางวิชาการมีหลากหลายตัวแบบ ในที่นี้ใช้ตัวแบบระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนของสมาคมการมีส่วนร่วมสากล ((IAP2 - International Association for Public Participation ) ที่เรียกว่า Public Participation Spectrum  แบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 การมีส่วนร่วมในระดับให้ข้อมูลข่าวสาร (To Inform) : เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นระดับการมีส่วนร่วมที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยที่สุด แต่ถือว่าเป็นขั้นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีความสำคัญมาก โดยหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ทันสมัย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภารงานของภาครัฐ โดยรูปแบบการมีส่วนร่วมในระดับนี้อยู่ในลักษณะการให้ข้อมูลทางเดียวจากภาครัฐสู่ประชาชน
 ระดับที่ 2 การมีส่วนร่วมในระดับการปรึกษาหารือ (To Consult) : เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ข้อมูล  ข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการ/                   การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐอย่างอิสระและเป็นระบบ โดยหน่วยงานภาครัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น และประเด็นที่ประชาชนเป็นห่วงไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงนโยบาย หรือพัฒนาวิธีการปฏิบัติงานในหน่วยงาน และประกอบการตัดสินใจ  โดยรูปแบบการมีส่วนร่วมในระดับนี้ทำได้โดยการสำรวจความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ การเสวนากลุ่ม เป็นต้น
ระดับที่ 3 การมีส่วนร่วมในระดับให้เข้ามามีบทบาท (To Involve) : เป็นลักษณะที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจ  ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างจริงจัง และมีจุดมุ่งหมายชัดเจน โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การวางแผนงานโครงการ และวิธีการปฏิบัติงาน  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ มีหน้าที่จัดระบบอำนวยความสะดวกและยอมรับการเสนอแนะ  และมีการตัดสินใจร่วมกับภาคประชาชน การมีส่วนร่วมระดับนี้อาจดำเนินการในรูปแบบกรรมการที่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม
ระดับที่ 4 การมีส่วนร่วมในระดับสร้างความร่วมมือ (To Collaborate) : เป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในระดับสูง  โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นหุ้นส่วนกับประชาชนในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ ตั้งแต่การระบุปัญหา  พัฒนาทางเลือก และแนวทางแก้ไข รวมทั้งการเป็นภาคีในการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ  ดังนั้นการมีส่วนร่วมในระดับนี้ คือ การที่ภาครัฐสัญญากับประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานร่วมกัน และนำแนวคิดใหม่ ๆ หรือข้อเสนอแนะของประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนจะสะท้อนออกมาจากผลของการตัดสินใจที่ค่อนข้างสูง  โดยรูปแบบการมีส่วนร่วมในขั้นนี้ เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน  คณะที่ปรึกษาภาคประชาชน เป็นต้น
ระดับที่ 5  การมีส่วนร่วมในระดับเสริมอำนาจประชาชน (To Empower) : เป็นระดับการมีส่วนร่วมที่ประชาชนมีบทบาทในระดับสูงสุด  โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งผลการตัดสินใจมีผลผูกพันให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการตามการตัดสินใจของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับสูงสุดนี้ เน้นให้ประชาชนมีบทบาทในการบริหารจัดการโดยเป็นผู้ดำเนินภารกิจ และภาครัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น ประโยชน์ของการตัดสินใจในขั้นนี้ คือ การสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน รูปแบบการมีส่วนร่วมในขั้นนี้  เช่น การลงประชามติเพื่อพิจารณาว่าควรมีการจัด ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ของชุมชนหรือไม่ เป็นต้น

3. ผลการดำเนินงาน
3.1  การส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
ในการส่งเสริมและผลักดันการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในปี พ.ศ. 2554  สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมและมีความสำคัญมากเนื่องจากการที่ประชาชนหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทันการณ์ และทั่วถึง จะทำให้สามารถพัฒนาระดับการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการไปสู่ระดับสูงขึ้น ได้แก่ ระดับการปรึกษาหารือ  ระดับการเข้ามาเกี่ยวข้อง  ระดับความร่วมมือ  และระดับการเสริมอำนาจประชาชน ที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่จะเลือกแนวทางการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นตนเองและรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเหล่านั้นต่อไป  โดยระบบราชการต้องมีการปรับระบบและวิธีการทำงาน  วัฒนธรรมการทำงาน  และโครงสร้างองค์กร  รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมหรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ 
ในปี พ.ศ. 2554  สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมการหารราชการแบบมีส่วนร่วมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยการจัดให้มีการมอบรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในระดับจังหวัด ซึ่งกำหนดเป็น 3 ระดับรางวัล ได้แก่  ระดับดีเยี่ยม  ระดับดี  และระดับชมเชย  โดยมีจังหวัดที่ดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการและมีกรณีตัวอย่างที่เป็น ซึ่งผ่านการประเมินได้รับรางวัลฯ ดังกล่าว รวม 18 จังหวัด  แบ่งตามระดับรางวัล  ดังนี้
 รางวัลระดับดีเยี่ยม 12 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดกาฬสินธุ์   จังหวัดตาก จังหวัดตราด  จังหวัดนครพนม  จังหวัดพัทลุง  จังหวัดเพชรบุรี  จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดราชบุรี  จังหวัดลำพูน  จังหวัดสมุทรสงคราม  และจังหวัดอ่างทอง
 รางวัลระดับดี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดจันทบุรี  และจังหวัดหนองบัวลำภู
 รางวัลชมเชย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร  จังหวัดตรัง  และจังหวัดอุดรธานี

จากการถอดบทเรียนการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการในระดับจังหวัด พบว่าปัจจัยสำเร็จที่ทำให้จังหวัดมีการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ดังนี้
1) ผู้นำซึ่งรวมถึงผู้นำตามธรรมชาติมีภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย มีความรู้ ความเข้าใจหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และหลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมทั้งการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของข้าราชการ และประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างดี 
2) ความเชื่อมั่น ศรัทธา และยอมรับในตัวผู้นำ รวมทั้งความเชื่อมั่นในแนวคิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ และการทำงานบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
3) ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และความกระตือรือร้นที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการของข้าราชการ/บุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
4) ความสนใจและกระตือรือร้นของประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ทำให้เกิดการทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความสมัครใจและเต็มใจ ซึ่งเกิดจากความเป็นพลเมืองที่รู้จักหน้าที่และสิทธิของตน และตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วม รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการตั้งแต่เริ่มแรก   
5) กระบวนการและรูปแบบทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาสังคม กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง และมีการทำงานแบบพหุภาคี   รวมทั้งการทำงานเป็นเครือข่าย ๆ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมและขยายผลไปในแนวราบทำให้เกิดการเชื่อมประสานเป็นเครือข่าย และทำให้มีการขยายผลออกไปในหลายพื้นที่ และมีการเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายต่าง ๆ
6) การจัดทำยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและใช้แผนชุมชนเป็นฐานในการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานและความร่วมมือร่วมกันในพื้นที่
7) การมีปรัชญาในการทำงานที่ชัดเจน เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดอุดมการณ์ร่วมที่ชัดเจน ทุกคนจึงมีความมุ่งมั่นและเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ไปในทิศทางเดียวกัน
8) การสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งในด้านงบประมาณ  วัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากรในการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมในการพัฒนาพื้นที่ที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
9) การดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทำให้เกิดการยอมรับและสร้างความร่วมมือในการพัฒนา
10) กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
11) การสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
12) การจัดโครงสร้างการทำงานร่วมกัน โดยจัดโครงสร้างแบบหลวม ๆ และทำงานในแนวราบ  รวมทั้งไม่ใช้รูปแบบสั่งการจากบนลงล่าง  ซึ่งภาครัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุนทำให้เกิดระบบที่เอื้อต่อการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมหรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายทั้งส่วนของภาครัฐและภาคประชาชนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการบริหารราชการและนำไปสู่การได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2011 รางวัลรองชนะเลิศ สาขาการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายผ่านกลไกด้านนวัตกรรม (Fostering Participation in Policy Making Decisions through Innovative Mechanisms)  จาก "การบริหารจัดการชลประทานแบบมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการภาคประชาชนและองค์กรผู้ใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี (Participatory Irrigation Management by Civil Society Committee and Water User Organizations: The Kra Seaw Operation and Maintenance Office Dan Chang District Suphanburi Province, Thailand"

สำหรับการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในส่วนราชการส่วนกลางระดับกรม/เทียบเท่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อใช้ในการประเมินและมอบรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในการสร้างแรงจูง  และพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดบริการสาธารณะร่วมกับภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในระบบราชการยิ่งขึ้น 

 

การพัฒนาระบบราชการให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้เกิดการทำงานร่วมกับภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยการจัดกิจกรรมผ่านเวทีการประชุม/สัมมนา จดหมายข่าวพัฒนาระบบราชการ และเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร.  

 

3.2  การส่งเสริมความร่วมมือการทำงานในลักษณะเครือข่าย

 

การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นในลักษณะเครือข่าย เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่  1) ภาวะผู้นำที่จะสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจในการทำงานที่มีความสอดคล้องกัน  ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์ในเชิงกลยุทธ์  ความสื่อสัตย์สุจริต  และเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 2) การสร้างค่านิยมในการทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรภาพอย่างแท้จริง 3) การพัฒนาปรับปรุงการทำงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการปรับกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง 4)  การจัดทำฐานข้อมูลสมาชิกเครือข่ายเพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานและ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  และ 5) การสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน   

 

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ส่วนราชการ  จังหวัด  และสถาบันอุดมศึกษา             มีการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นในลักษณะเครือข่าย ทั้งที่เป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากประเด็นการพัฒนาที่เป็นปัญหา/เป็นประเด็นเฉพาะคราว ตัวอย่างเช่น 

 

1)        การลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลปีใหม่ ที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ /องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน/ชุมชน 

 

2)        เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับชุมชน เพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรม สร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคมร่วมกัน โดยส่งเสริมการรวมตัวของประชาชนในลักษณะของ "เครือข่าย" เพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐในภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชุมชน และเพื่อเป็นกลไกในการร่วมกันสรรหาแนวทางที่จะทำให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างสังคมที่ยุติธรรม 

 

3)   เครือข่ายการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีบทบาทในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานและพัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานให้มีความรู้ทักษะด้านการคุ้มครองแรงงานและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสังคม   

 

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ศึกษา วิจัยเพื่อค้นหานวัตกรรมการบริหารราชการที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการ  ร่วมมือกับสื่อมวลชนเพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างความรู้ความเข้าใจและสื่อสารข้อมูลข่าวสารการพัฒนาระบบราชการที่ถูกต้อง ทันสมัย และทั่วถึง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการในวงกว้าง และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการในส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และจังหวัด  และการสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไปสู่เป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 9 ธันวาคม 2559 14:59:42 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 9 ธันวาคม 2559 14:59:42

เอกสาร และ สื่อ

2560 | 2559 | 2558 | 2557 | 2556 | 2555 | 25532552 |
ประกาศรายชื่อหน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์การตรวจประเมินผลการดาเนินงานในพื้นที่ รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประจาปี พ.ศ. 2560  เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่ส่วนราชการหรือจังหวัด เกี่ยวกับการสมัครขอรับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2560 การจองเวลาในคลินิกให้คำปรึกษาการชี้แจงหลักเกณฑ์ รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประจำปี พ.ศ. 2560 สำนักงาน ก.พ.ร. หลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณารางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Thailand Excellent Participatory Governance Awards) ประจำปี พ.ศ. 2560  [DOWNLOAD] 
  • ส่วนราชการ
  • จังหวัด
  • เอกสารประกอบการ ประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณา รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2560 
        ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

    เกี่ยวกับ

    กฏหมายและระเบียบ

    หนังสือเวียน

    ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

    ศูนย์ความรู้

    ประชาสัมพันธ์

    W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

    Slocan

    สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

    59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th