การพัฒนากฎหมาย
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ให้ทุกส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจจัดทำแผนการพัฒนากฎหมาย โดยมีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบแนวทางการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการประจำปี พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
ให้ส่วนราชการจัดทำแผนในการยกเลิก ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ส่วนราชการรักษาการหรืออยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในกำกับเกี่ยวกับการอนุมัติหรืออนุญาตทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต แต่เป็นการอนุมัติหรืออนุญาตที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีความจำเป็นหรือไม่เหมาะสม เช่น ขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่นทั้งในระดับที่สูงกว่าหรือในระดับเดียวกัน ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ล้าสมัย หรือสร้างภาระให้กับผู้ขอรับอนุมัติหรือผู้ขอรับอนุญาตเกินความจำเป็น หรือไม่ประการใด เมื่อเทียบกับประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และเป็นประโยชน์ของส่วนราชการ หรือบทบัญญัติไม่ถูกต้อง ไม่มีความจำเป็นหรือไม่เหมาะสม
โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
ระยะที่ 2 เป็นการจัดทำกฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมายที่ได้รับอนุมัติให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
จากการติดตามและประเมินผลฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 พบว่า ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ (ความสำเร็จของส่วนราชการในการดำเนินการยกร่างกฎหมาย แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตให้แล้วเสร็จ รวมทั้งความสำเร็จของสำนักงานปลัดกระทรวงในการรวบรวมและจัดส่งรายงานผลการดำเนินการยกร่างกฎหมาย แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตของส่วนราชการในกระทรวง) โดยพิจารณาความสำเร็จของการดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่
1) ความสำเร็จของส่วนราชการในการดำเนินการยกร่างกฎหมาย แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย และอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตให้แล้วเสร็จ ตามตัวชี้วัดที่ 11.1 ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการยกร่างกฎหมาย แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตของส่วนราชการ โดยส่วนราชการที่จะต้องดำเนินการประกอบด้วย
(1) ส่วนราชการระดับกรมทั่วไป
(2) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ
(3) สำนักงานปลัดกระทรวงอื่นที่มีกฎหมายจะต้องพัฒนา
2) ความสำเร็จของสำนักงานปลัดกระทรวงในการรวบรวมและจัดส่งรายงานผลการดำเนินการยกร่างกฎหมาย แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงได้ครบถ้วน ตามตัวชี้วัดที่ 11.2 ระดับความสำเร็จของการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ โดยส่วนราชการที่จะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงทั้งที่มีและไม่มีกฎหมายจะต้องพัฒนา (ยกเว้นสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่ส่วนราชการจะต้องดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 สำหรับส่วนราชการระดับกรมทั่วไป สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานปลัดกระทรวงอื่นที่มีกฎหมายจะต้องพัฒนา
กรณีที่ 2 สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงทั้งที่มีและไม่มีกฎหมายที่จะต้องพัฒนา (ยกเว้นสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
กรณีที่ 3 สำหรับส่วนราชการที่ได้รับการยกเว้นการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 แต่มีกฎหมายที่จะยกร่าง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการ ได้กำหนดน้ำหนักตัวชี้วัดที่ต้องดำเนินการไว้ที่ สูงสุด 2 และต่ำสุด 1 (ตารางที่ 2.3-10)
ตารางน้ำหนักตัวชี้วัดที่ต้องดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของกรมและสำนักงานปลัดกระทรวง
หมายเหตุ สำหรับส่วนราชการในกรณีที่ 3 ให้ส่วนราชการกำหนดน้ำหนักตามตารางแล้วแต่กรณี
อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2554 มีส่วนราชการที่ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการประจำปี พ.ศ. 2554 จำนวน 32 กรม และมีกฎหมาย กฎ ระเบียบ และประกาศ ที่ได้มีการดำเนินการแก้ไขทั้งหมด 45 ฉบับ เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 14 ฉบับ กฎกระทรวง 16 ฉบับ ประกาศกระทรวงและกรม 7 ฉบับ ระเบียบกระทรวงและกรม 7 ฉบับ กฎข้อบังคับ 1 ฉบับ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 18 ธันวาคม 2555 16:50:42 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 ธันวาคม 2555 11:09:27