การยกระดับการให้บริการประชาชนในราชการบริหารส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.1 การพัฒนาระบบการให้บริการ ณ จุดบริการเดียว (One Stop Service) ในการพัฒนางานบริการของส่วนราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการมาขอรับบริการจากรัฐ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน ในรูปแบบที่เรียกว่า ศูนย์บริการร่วม (Service Link : SL) และ เคาน์เตอร์บริการประชาชน (Government Counter Service : GCS) ที่ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการต่าง ๆ ของรัฐได้ ณ จุดบริการเดียว โดยได้ส่งเสริมให้จังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมหรือเคาน์เตอร์บริการประชาชน อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และมีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมหรือเคาน์เตอร์บริการประชาชนครบทุกจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการติดตามประเมินผล เพื่อให้การรับรองและมอบรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชนแก่หน่วยงานที่พัฒนาศูนย์บริการร่วม และเคาน์เตอร์บริการประชาชนได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ก.พ.ร. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ปรากฏว่าใน ปี พ.ศ. 2554 มีเคาน์เตอร์บริการประชาชนในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง
2.2 ระบบการให้บริการรูปแบบหน้าต่างเดี่ยว (Single Window Service) สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการนำระบบการให้บริการรูปแบบหน้าต่างเดี่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการของส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น โดยการพัฒนาโปรแกรมการให้บริการรูปแบบหน้าต่างเดี่ยวขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ
งานบริการรูปแบบหน้าต่างเดี่ยว เป็น การส่งมอบบริการ ณ ที่ทำการ (In-person Service) รูปแบบหนึ่ง สามารถให้บริการอย่างหลากหลายผ่านช่องทางบริการเพียงจุดเดียว (Multi-Transaction into a Single Window) โดยรวมงานบริการของหลายหน่วยงานทุกระดับแบบบูรณาการ (Integrated Services) ไว้ที่ระบบบริการหน้าต่างเดี่ยว และให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบส่งมอบบริการให้แก่ประชาชนแต่เพียงหน่วยงานเดียว
การส่งมอบบริการแบบหน้าต่างเดี่ยวจะช่วยประมวลผลและเชื่อมต่อข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินการบริการระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการ ที่จะสามารถลดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุน รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรในการทำงานลง และต่อภาคประชาชนรวมทั้งภาคธุรกิจในฐานะผู้รับบริการ ในการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวกและง่าย ณ จุดบริการเดียว ลดเวลาในการรอคอย อีกทั้งยังลดภาระในการกรอกแบบฟอร์มและกรอกคำขอต่าง ๆ จึงเป็นการลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการได้มาก
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำระบบงานบริการในรูปแบบหน้าต่างเดี่ยว มานำร่องใช้ในการให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครระยอง และเทศบาลนครสงขลา รวม 5 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการส่งมอบบริการประชาชนระดับจังหวัดและท้องถิ่น และได้มีการพัฒนาหน่วยงานนำร่องให้เป็นศูนย์สาธิตการเรียนรู้ระบบการให้บริการรูปแบบหน้าต่างเดี่ยวขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี และเทศบาลนครสงขลา รวม 2 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมให้กับหน่วยงานบริการทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่นให้สามารถนำระบบงานบริการดังกล่าวไปใช้ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับในปี พ.ศ. 2554 มีหน่วยงานระดับเทศบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องในการนำระบบการให้บริการหน้าต่างเดี่ยวของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปใช้ในการให้บริการ ได้แก่ เทศบาลนครสงขลาได้พัฒนาต่อยอดระบบเดิมโดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางของเทศบาล (โครงการฐานข้อมูล e-Government) เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกงานบริการของเทศบาลสงขลา ในการให้บริการแบบหน้าต่างเดี่ยวบนระบบอินเทอร์เน็ต
ระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการบนหน้าต่างเดียว (National Single Window : NSW)
NSW เป็นระบบของประเทศเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ มีคณะอนุกรรมการการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า การส่งออกและโลจิสติกส์ ของคณะกรรมการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (คบส.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีกรมศุลกากรเป็น ผู้รับผิดชอบในฐานะเลขานุการ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบ NSW พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2558 อันนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก ผ่านกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร มีการลดรูปเอกสารและ
จัดทำมาตรฐานรายการข้อมูลและมาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จัดกิจกรรมสนับสนุนผู้เกี่ยวข้องให้รู้เข้าใจระบบใหม่ จัดตั้งและพัฒนาระบบใบรับรองลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ e-Signnature ระหว่างผู้ให้บริการต่างรายในประเทศ และแลกเปลี่ยนกับ e-Signnature ที่ออกโดยผู้ให้บริการ (Certificate Authority : CA) ในต่างประเทศ และออกแบบธุรกรรมของระบบ NSW ทั้งระบบกำกับ การลงทุน การดำเนินการ รวมทั้งวิธีคิดราคา โดยจะนำไปสู่เป้าหมายการเชื่อมโยงกับระบบ (ASEAN Single Window : ASW) ต่อไป
NSW นี้จะประสานกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ผู้ประกอบการสามารถรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ผู้ประกอบการจะลดเวลาลง ตัวอย่างกรณี: การส่งออกกุ้งทางเรือไปประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาทั้งสิ้น 30 วัน ใน 11 ขั้นตอน นับตั้งแต่รับใบคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ จนถึงขั้นสุดท้ายจัดการทางการเงินเพื่อส่งสินค้าลงเรือ เมื่อพัฒนาเข้าสู่ระบบ NSW ใช้เวลา จัดการเพื่อส่งออกกุ้งทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นเหลือ 17 วัน ลดความสูญเสียได้ ร้อยละ 0.5 ของราคาสินค้าในแต่ละวันทีลดลงผลที่เกิดขึ้น จากการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ บน NSW ทำให้ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง โดยใช้เพียงชุดเดียวส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ และใช้ข้อมูลร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศ ลดเวลาการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการในกระบวนการนำเข้าและส่งออกในภาพรวมได้คิดเป็นมูลค่า 82,000-100,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ระบบเอกสาร
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 กันยายน 2555 17:05:37 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 15 ตุลาคม 2555 10:55:19