การปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศ ปัจจุบันทุกประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนเวทีโลก เนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่โลกยุคดิจิตอลที่ไร้ขีดจำกัดต่อการแข่งขัน ประกอบกับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านการประกอบธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ อันจะนำไปสู่การลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น เกิดผลดีต่อการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตไปอย่างมั่นคง และจากรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นการจัดอันดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในกระบวนการประกอบธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2554 ธนาคารโลกดำเนินการสำรวจใน 9 ด้าน ตามวงจรธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนถึงการปิดกิจการ ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการปิดกิจการ
ภาพผลการจัดอันดับ Doing Business ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2548 2554
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) และได้มีการดำเนินการมาจนทุกวันนี้ โดยประเทศไทยสามารถรักษาอันดับของการเป็นประเทศที่น่าลงทุนให้อยู่ใน 20 อันดับแรก จากทั้งการสำรวจทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก โดยที่รายงานดังกล่าวมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่สำคัญที่นักลงทุนนำมาใช้ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และในหลายประเทศได้ยกระดับขีดความสามารถของตนอย่างต่อเนื่อง หากการบริการภาครัฐของไทยไม่ได้รับการดูแลระดับคุณภาพอย่างจริงจัง อาจไม่สามารถยกอันดับของประเทศให้สูงขึ้นหรือรักษาให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกได้
รัฐบาลได้เล็งเห็นควาสำคัญในเรื่องนี้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 จึงมีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งผลการดำเนินงาน มีหลายหน่วยงานที่ปรับปรุงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ อาทิ
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกันพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e-Starting Business) โดยปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และเลขที่บัญชีนายจ้างให้สามารถดำเนินการได้ ณ จุดเดียว (Single Point) ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การใช้แบบฟอร์มร่วมกัน (Single Form) และการใช้เอกสารชุดเดียวกัน (Single Document) ซึ่งดำเนินการแล้วทั่วประเทศ
- กรมศุลกากร ปรับระบบพิธีการศุลกากรเป็นระบบพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Customs) ผ่านระบบ National Single Window เพื่อขับเคลื่อนระบบการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งทำให้กระบวนการในการนำสินค้าเข้าและส่งออกมีความรวดเร็ว และสามารถลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการได้
- กรมที่ดิน ได้ปรับปรุงกระบวนการให้บริการจดทะเบียนทรัพย์สิน โดยสามารถให้บริการประชาชนได้เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน
- สำนักงานประกันสังคม ปรับระบบการยื่นแบบนำส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมผ่านระบบ Online Filing เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ได้ให้ความสำคัญกับรายงานผลการวิจัย เรื่อง Doing Business ของธนาคารโลกด้วย โดยตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนของภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ให้มีความรวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 5 ในปี พ.ศ. 2554 และร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2558 ใน 5 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การได้รับสินเชื่อ การค้าระหว่างประเทศ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง
ประเทศไทยได้ตอบรับการเข้าร่วมกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ Ease of Doing Business (EoDB) ของเอเปคซึ่งมีเป้าหมายให้เขตเศรษฐกิจเอเปคมีบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น โดยกำหนดให้ประเทศที่เป็น Champion Economy ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือประเทศสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการให้คำปรึกษาแนะนำ และศึกษาวิเคราะห์แนวทางการปรับปรุงบริการรายประเทศ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ให้กับประเทศ Champion Economy เพื่อศึกษา วิเคราะห์แนวทางการปรับปรุงบริการให้บรรลุผลสำเร็จ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 กันยายน 2555 16:59:54 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 26 กันยายน 2555 10:28:53