การปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการ อันเป็นผลให้เกิดการปรับปรุงกระทรวงจาก 14 กระทรวง/ 1 ทบวง เป็น 20 กระทรวงนั้น เป็นการจัดภารกิจภาครัฐให้เข้าที่ มีผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องชัดเจน จำเป็นต้องติดตามและแก้ปัญหาการทำงานของกระทรวงต่าง ๆ ดังกล่าว เพื่อปรับกลไกในส่วนราชการและองค์การอื่นของรัฐในกำกับกระทรวง ให้เอื้อต่อการบริหารราชการยุคใหม่และแก้ไขปัญหาในการทำงาน ทั้งปัญหา การทำงานระหว่างหน่วยงานในกระทรวงและระหว่างกระทรวง รวมทั้งระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับราชการบริหาร ส่วนภูมิภาคซึ่งในการจัดส่วนราชการในราชการส่วนกลางใน ปี พ.ศ. 2545 นั้น ยังมิได้ครอบคลุมถึง ทั้งนี้จากการติดตามผล 20 กระทรวง หลังจากจัดตั้งครบ 4 ปี โดยจำแนกเป็นกลุ่มกระทรวงเดิม และกลุ่มกระทรวงตั้งใหม่ สิ่งที่ค้นพบโดยสรุปมีดังนี้
1. กระทรวงเดิม 14 กระทรวง : มีบทบาทภารกิจที่ชัดเจนขึ้นทุกกระทรวง มีการยุบเลิกภารกิจที่หมดความจำเป็น มีการถ่ายโอนภารกิจ (รวมทั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงาน) จากกระทรวงหนึ่งไปรวมอยู่กับกระทรวงอื่นที่มีภารกิจเชื่อมโยงสัมพันธ์กันและมีแนวทางที่จะถ่ายโอนภารกิจให้ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการปรับปรุงภารกิจบางส่วนให้บริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ปัญหาสำคัญ ๆ ที่พบ คือ ปัญหาการจัดโครงสร้างหน่วยงานในภูมิภาคของกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
2. กระทรวงตั้งใหม่ 6 กระทรวง : มีการจัดโครงสร้างรองรับภารกิจได้ค่อนข้างครบถ้วนยกเว้นบาง ส่วนราชการที่ต้องดำเนินการต่อไปตามบทเฉพาะกาล
กระทรวงพลังงาน : มีการตัดโอนภารกิจเกี่ยวกับพลังงานที่กระจายอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ
เข้าไว้ด้วยกันในกระทรวงพลังงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ/บริษัทจำกัดที่เกี่ยวกับพลังงาน แต่ยังไม่สามารถตัดโอนการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาสังกัดกระทรวงพลังงานได้ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องศักยภาพของบุคลากรที่ตัดโอนมาบางส่วนต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจใหม่
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ : ตั้งขึ้นโดยการตัดโอนภารกิจและบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมารวมกันจัดตั้งเป็นกระทรวง เพื่อทำภารกิจใหม่ในบทบาทใหม่ซึ่งแตกต่างจากบทบาทเดิม โดยเฉพาะข้าราชการส่วนใหญ่มาจากกรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเน้นงานบริการ เมื่อต้องทำภารกิจในบทบาทเชิงรุกและบริหารเชิงยุทธศาสตร์ จึงไม่สามารถดำเนินงานตามบทบาทใหม่ของกระทรวงได้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : เป็นการรวมหน่วยงานหลายหน่วยจากหลายกระทรวงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีระบบการบริหารที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการพัฒนาหรือหลอมละลายแนวคิดและพฤติกรรมของบุคลากรให้เป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งต้องพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติตามบทบาทภารกิจใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีปัญหาความซ้ำซ้อนของภารกิจ และปัญหาการถ่ายโอนทรัพย์สินอาคารสถานที่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : ภารกิจบางส่วนยังอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่สามารถตัดโอนมาได้ และบุคลากรบางส่วนต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจใหม่
กระทรวงวัฒนธรรม : มีการตัดโอนภารกิจด้านศาสนาและวัฒนธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการ มารวมกันและจัดตั้งเป็นกระทรวง มีปัญหางานด้านศาสนาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรมกับงานด้านศาสนาที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องสถาบันพัฒนศิลป์ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาว่าควรสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศึกษาธิการ อัตรากำลังในส่วนกลางมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่อัตรากำลังในส่วนภูมิภาคมีค่อนข้างมาก เนื่องจากรับโอนภารกิจและอัตรากำลัง (จำนวน 2,030 ตำแหน่ง) จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการอำเภอของ กระทรวงศึกษาธิการมาปฏิบัติงานด้านศาสนาวัฒนธรรมในจังหวัด ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การจัดตั้งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค นอกจากนี้บุคลากรบางส่วนต้องมีการพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจของกระทรวง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา : มีการรวมงาน 2 ด้าน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกันเข้าด้วยกันเป็นกระทรวง โดยมีฐานภารกิจจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 หน่วย ทำให้มีปัญหาในการทำงานค่อนข้างมาก อัตรากำลังส่วนใหญ่ตัดโอนจากกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขาดทักษะด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นภารกิจใหม่ไม่เคยทำมาก่อน รวมทั้งมีปัญหาเรื่องวิทยาลัยพลศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาว่าควรสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือกระทรวงศึกษาธิการ
การดำเนินการปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา นอกจากการปรับแก้ส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์หรือลงตัว อันเนื่องมาจากการจัดการปฎิรูประบบราชการปี พ.ศ. 2545 แล้ว ทุกกระทรวงจะได้มีการปรับบทบาท ภารกิจให้รองรับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี ที่มีทั้งส่วนที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และนโยบายเร่งด่วน ตามวาระของรัฐบาล โดยมีการปรับปรุงรูปแบบหน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค ในทุกด้าน เช่น การจัดกลุ่มภารกิจเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ การจัดบทบาทส่วนราชการให้มีความพร้อมในบริบทของผู้ซื้อบริการ และผู้ขายหรือผู้ทำบริการ กรณีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดองค์กรมหาชน และหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ตลอดจนการบริหารแบบบูรณาการในราชการบริหาร ส่วนภูมิภาค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ฐานะนายกรัฐมนตรีในพื้นที่แต่ละจังหวัด ทำให้จังหวัดบริหารทรัพยากรที่รัฐจัดสรรไปให้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในแต่ละกระทรวงจะได้รับการปรับแก้บทบาท ภารกิจ และขนาดให้สอดคล้องกับการทำงานของแต่ละกระทรวง ดังนี้
หน้าถัดไป
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 22 มกราคม 2552 12:09:45 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 22 มกราคม 2552 12:09:45