ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ธรรมาภิบาลกับการพัฒนาประเทศ
เมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกองบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการพัฒนาประเทศ” โดยมีนายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานพร้อมกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “เพื่อให้ข้าราชการได้ศึกษาและพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้สมัยใหม่ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางเว็บลิงค์ e-Learning อีกด้วย ทั้งนี้ หลักสูตร Mini MPM ซึ่งมีเนื้อหาหลักสูตรมุ่งเน้นความรู้ด้านการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2546 มาโดยตลอด เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในช่วงแรกได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) บรรยายในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการพัฒนาประเทศ” ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท โดยมีหลักปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลกิจการ 5 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้นทุกราย การให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท การให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และการแสดงความรับผิดชอบตามหน้าที่ของคณะกรรมการที่มีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งการสร้างธรรมาภิบาลของประเทศจุดเริ่มต้นต้องมาจาก ภาวะผู้นำทางการเมือง ธุรกิจและสังคมที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยภาครัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ภาคธุรกิจต้องทำธุรกิจอย่างสะอาดและมีจริยธรรม ภาคประชาชนจะต้องเป็นประชาชนที่ดีที่รู้จักแยกแยะถูก ผิด และออกมาพูดแสดงความคิดเห็น
หลังจากนั้น เข้าสู่กิจกรรม Workshop โดยผู้เข้าร่วมฟังบรรยายร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นเรื่อง แนวทางในการพัฒนา/ปรับใช้หลักธรรมาภิบาลในหน่วยงาน/ประเทศ อาทิ เช่น
1. ควรปรับใช้หลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศ โดยเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักให้แก่เด็กและเยาวชน
2. ผู้บริหารควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างภาวะผู้นำ
3. ควรปลูกจิตสำนึกมากกว่าสร้างตัวชี้วัด โดยเฉพาะจิตสำนึกเรื่องความรักชาติ ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะเริ่มต้นจากข้าราชการบรรจุใหม่
4. ควรสร้างเวที หรือเครื่องมือเพื่อช่วยข้าราชการในการผลักดันหลักธรรมาภิบาล
5. ควรจัดระบบให้ข้าราชการทำงานอย่างมีความสุข โดยสร้างและปรับกฎระเบียบให้ทันต่อเหตุการณ์ สามารถปรับใช้ได้จริงในปัจจุบัน
6. ควรปรับคำศัพท์เกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลให้เข้าใจได้ง่าย
7. ควรให้ความสำคัญกับผู้นำในการแสดงบทบาทเรื่องหลักธรรมาภิบาล
8. ควรให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ
9. ควรให้ความสำคัญและสร้างจิตสำนึกเรื่องหลักธรรม ธรรมะมากขึ้น
10. เน้นการปฏิบัติมากกว่าหลักทฤษฎี
11. สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแต่กฎหมายปรับให้สอดคล้องไม่ทัน หน่วยงานที่เกี่ยวกับกฎหมายควรปรับหรือออกกฎหมายที่ปรับใช้ได้จริง
12. ในการสร้างระบบธรรมาภิบาลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการกำกับควบคุมและบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการประเมินผลการทำงาน
13. ปัจจุบัน ปัญหาจากค่านิยมในสังคมที่เป็นวัตถุนิยม แม้ทำผิดแต่หากร่ำรวยและมีอำนาจ คนในสังคมก็ให้ความเคารพนับถือ สำนักงาน ก.พ.ร. ควรที่จะจัดระบบให้ข้าราชการที่เป็นข้าราชการน้ำดีได้มีโอกาสทำงานได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักธรรมาภิบาล จึงจะมีการดำเนินการเพิ่มเนื้อหา 1 รายวิชา ในเรื่องดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
|
|