ในที่สุดคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ "บอร์ด กบข." ก็ประกาศผลการตรวจสอบของ "คณะกรรมการเฉพาะกิจ" เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข. ในปี 2551 ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นำผลสอบเบื้องต้นมาเปิดเผยต่อสาธารณชนล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ทั้งที่เป็นเพียง "ผู้สังเกตการณ์" ในการตรวจสอบเท่านั้น
ผลการตรวจสอบดังกล่าว สรุปได้ว่า การดำเนินงานของ กบข. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุน กบข. ในปี 2551 "เป็นไปตามกฎหมาย" กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกตามแนวทางการดูแลเงินออมเพื่อการเกษียณอายุราชการของสมาชิกที่เป็นข้าราชการประเภทต่างๆ แล้ว
ส่วนผลประกอบการที่ขาดทุนในปี 2551 จำนวนทั้งสิ้น 16,832 ล้านบาทนั้น เกิดจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้การลงทุนในตราสารทุนทั่วโลก ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้กองทุนต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้ง กบข.มีผลการดำเนินงานติดลบ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเฉพาะกิจได้มีข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับการปรับปรุงการดำเนินงานของ กบข. ทั้งด้านการลงทุน และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามระเบียบของพนักงาน ซึ่งรวมถึง "วิสิฐ ตันติสุนทร" เลขาธิการ กบข. ที่พบว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบ กบข. ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้พนักงาน กบข. "ต้องขออนุญาต" ต่อฝ่ายธรรมาภิบาลและกำกับกิจกรรมองค์กร ก่อนทำการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน โดยพบว่าเลขาธิการ กบข.และพนักงานอีก 6 คน มีการซื้อขายหุ้นแบบดักหน้าดักหลังใน 8 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของ กบข. โดยหนึ่งในนั้น คือ การซื้อขายหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นการเข้าซื้อโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต และรายงานต่อฝ่ายธรรมาภิบาลฯ แต่อย่างใด
คณะกรรมการ กบข.จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เพื่อตรวจสอบการกระทำของเลขาธิการ กบข. ขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้รายงานผลต่อคณะกรรมการ กบข. ภายใน 30 วัน ขณะที่ ในส่วนของพนักงาน กบข.คนอื่นๆ นั้น ให้ กบข.ดำเนินการตามข้อบังคับคณะกรรมการ กบข. ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2545 ซึ่งบทลงโทษของการฝ่าฝืนระเบียบ กบข.นั้น จะมีโทษทางวินัย ตั้งแต่ตัดเงินเดือน ไปจนถึงการเลิกจ้าง
ทั้งนี้คณะกรรมการ กบข.ยืนยันว่าการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน กบข. เป็นเรื่องการสอบสวนส่วนบุคคล "ไม่เกี่ยวข้อง" หรือ "ส่งผล" ต่อการบริหารเงินลงทุนและผลประกอบการของ กบข. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำของ "วิสิฐ" และพนักงาน ทางบอร์ด กบข.จะระบุว่า ไม่ได้สร้าง "ความเสียหาย" ให้องค์กร แต่ต้องยอมรับว่าได้สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของ กบข.ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็น "จริยธรรมและจรรยาบรรณ" ในการบริหารงานของผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ กบข.ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาสมาชิกข้าราชการที่ฝากเงินให้ กบข.บริหาร จนมีการร่าง "แนวทางการกำกับดูแลที่ดี" ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่คณะกรรมการ เลขาธิการจนถึงระดับพนักงาน ใช้เป็นหลักยึดถือในการปฏิบัติงาน เพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ต้องไม่ลืมว่า กบข.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญทั้งด้านสังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะมีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ต้องบริหารเงินออมของข้าราชการ 3-4 แสนล้านบาท นอกจากจะต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกและสาธารณชน ในเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใสในการบริหารงาน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากข้าราชการขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานของผู้บริหาร และองค์กรแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะให้บรรดาข้าราชการไว้ใจ ให้บริหารเงินออมสำหรับการเกษียณอายุราชการได้
ดังนั้น การไม่ปฏิบัติตามระเบียบองค์กรของเลขาธิการ กบข.จึงไม่สามารถมองข้ามได้ เพียงแค่เหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหายต่อผลการดำเนินงานของ กบข. เพราะในแง่ภาพลักษณ์และชื่อเสียงองค์กรแล้ว การที่ผู้บริหารสูงสุดละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ แล้วจะหวังให้พนักงานที่เหลือทั้งหมดปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างไร
ยังไม่นับกรณีการตั้งข้อสังเกตของ ป.ป.ท.ที่ระบุว่า เลขาธิการ กบข.ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นการซื้อตัดหน้ากองทุน (Front running) และซื้อขายในทิศทางสวนทางกับการลงทุนของ กบข. (Against Portfolio) ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตามข้อมูลของ ป.ป.ท.ระบุว่า นายวิสิฐ ได้ทำรายการซื้อขายหุ้นบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ YNP บริษัท แลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในลักษณะก่อนหน้า ดักหลัง หรือพร้อมกันกับวันที่ กบข.ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวหลายครั้ง
ซึ่งตามระเบียบของ กบข.ได้กำหนดห้ามพนักงานซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้นเพื่อกองทุน ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ใดในทิศทางตรงข้ามกับการลงทุนของกองทุนที่จะทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนได้รับความเสียหาย หรือทำให้พนักงานได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน อย่างไรก็ตาม พนักงานสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทบต่อเวลาการทำงาน ควรเป็นลักษณะการลงทุนระยะยาว คือถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 เดือน และไม่เข้าข่ายการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน หรือ อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องการเมือง โดยเริ่มจาก ป.ป.ท.อ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก กบข.ถึงความไม่พอใจต่อผลการดำเนินงานที่ติดลบของ กบข. อีกทั้ง ป.ป.ท.เองถูกมองว่าไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องนี้ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการจุดประเด็นเพื่อหวัง "ดิสเครดิต" นายวิสิฐ หวังสกัดไม่ให้ลงสมัครรับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กบข.อีกวาระ ซึ่งเจ้าตัวจะครบวาระในวันที่ 14 สิงหาคมนี้หรือไม่ก็ตาม
แต่เป็นคนละประเด็น เมื่อผลตรวจสอบที่ปรากฏออกมา การบริหารของ กบข.ไร้ปัญหา แต่กลับเจอการกระทำผิดจริยธรรมของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร กลายเป็น "ช่องโหว่" ที่ทำให้การเมืองสัมฤทธิผลในการแทรกแซงองค์กร กบข. ดังนั้น เป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่คณะกรรมการ กบข. และกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลจะต้องเร่งแก้ไข โดยพิจารณาตัดสินกรณีนี้อย่างจริงจัง รอบคอบและเข้มงวด เพื่อให้สังคมคลายความสงสัย และสร้างความศรัทธาให้กลับคืนมา
แม้ว่าจะต้องถึงขั้นลาออกเพื่อรับผิดชอบก็ตาม!!
หลักปฏิบัติของเลขาธิการ กบข.
คณะกรรมการ กบข.ได้มีการจัดทำ แนวทางการกำกับดูแลที่ดีขึ้น เพื่อกำหนดหลักปฏิบัติในการดำเนินงานของ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงาน โดยในส่วน "หลักปฏิบัติของเลขาธิการ" นั้นระบุไว้ว่า เลขาธิการเป็น "ผู้นำ" ของพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สมาชิก ซึ่งมีหลักปฏิบัติดังนี้
- เลขาธิการพึงเป็นผู้นำพนักงานในการปฏิบัติตามแนวทางกำกับดูแลที่ดีอย่างเคร่งครัด ตลอดจน "ส่งเสริม" เรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงานของพนักงาน พึงปฏิบัติหน้าที่ด้านการลงทุนอย่างเคร่งครัดตามที่กำหนดไว้ในถ้อยแถลงนโยบายการลงทุน และพึงบังคับบัญชาพนักงาน กบข.เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร เป็นต้น
นอกจากนี้ในแนวทางกำกับดูแลที่ดี ยังให้นิยามความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ไว้ดังนี้ "ความขัดแย้งทางผลประโยชน์" หมายถึง กรรมการ อนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงาน กบข.ต้องไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม อันเกิดจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการลงทุน ตลอดจนห้ามมิให้บุคคลเหล่านี้มีส่วนโน้มน้าว ชักนำการตัดสินใจลงทุนของ กบข.ในทางที่เอื้อประโยชน์ส่วนตน หรือบุคคลอื่น ขณะที่ "การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน" หมายถึง การซื้อขายหลักทรัพย์ โดยใช้ข้อมูลที่เป็นที่เปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจา ที่อาจได้มาโดยทางตรง หรือทางอ้อม และเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ ไปใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อบุคคลอื่น
"กบข.ห้ามกรรมการ อนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงาน กบข.ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน นอกจากนั้นการซื้อหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในยังมีความผิดทางกฎหมายด้วย"
------
มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11405
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01eco01010652§ionid=0103&day=2009-06-01 |