ภาษีทรัพย์สิน: กระดูกสันหลังประชาธิปไตย
.
ดร.โสภณ พรโชคชัย*
.
ทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงล้มลุกคลุกคลานแม้จะมีอายุถึง 76 ปีแล้ว คำตอบง่าย ๆ ก็คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เรามักเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมหมายถึงแค่การไปออกเสียงเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงหมายถึงการมีส่วนให้หรือส่วนเกื้อหนุนในฐานะสมาชิกของสังคมหรือของประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ชัดเจนได้แก่การเสียภาษี
.
คงไม่มีประเทศใดจะอยู่รอดได้หากประชาชนของประเทศไม่ได้เสียภาษี และภาษีที่ผมหมายถึงก็คือภาษีทรัพย์สิน การที่ประชาชนได้เสียภาษีโดยตรงจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จะร่วมกันดูแลภาษีของตน และปิดโอกาสที่จะให้นักการเมืองหรือข้าราชการประจำรายใด มาแสวงหาผลประโยชน์
.
.
ภาษีทรัพย์สินเป็นไง
.
ภาษีทรัพย์สินนี้หมายถึงภาษีที่ประชาชนผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์และโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียให้กับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยตรง ระบบภาษีทรัพย์สินจะทำให้ผู้เสียภาษีเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาษีที่ตนเองจะได้รับ และตระหนักถึงหน้าที่ของตนในการเสียภาษี
.
ในเมืองเกือบทุกแห่งของประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาชนต้องเสียภาษีทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของ เช่น หากเรามีบ้านราคา 1 ล้านบาทในเขตเทศบาลเมืองคูคต ปทุมธานี เราต้องเสียภาษีทรัพย์สินประมาณ 15,000 บาท หรือ 1.5% โดยภาษีนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการศึกษา จัดสร้างสาธารณูปโภค และการพัฒนาอื่น ๆ ในเขตเทศบาลดังกล่าว
.
.
ประโยชน์ของภาษีทรัพย์สิน
.
จะเห็นได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ เทศบาลนั้น ๆ ยิ่งเจริญ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้ก็เพื่อการพัฒนาในพื้นที่เท่านั้น ประชาชนจึงรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามอาจมีชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนไม่อยากเสียภาษีนี้บ้าง เช่น คนโสด เพราะตนเองอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดการศึกษาแก่เด็ก เป็นต้น แต่การมีโรงเรียนคุณภาพในท้องถิ่นจะทำให้มีคนสนใจย้ายเข้าท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของตนเองเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
.
โดยที่ภาษีทรัพย์สินเป็นภาษีสำหรับท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นภาษีทางตรง จึงทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถช่วยดูแล ควบคุมเป็นอย่างดี ต่างจากในสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ที่รัฐบาลกลางส่งเงินมาให้ส่วนท้องถิ่นใช้ คนในท้องถิ่กเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง กลายเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบไป
.
.
กระดูกสันหลังประชาธิปไตย
.
ในประเทศตะวันตก ไม่เฉพาะนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารหรือหัวหน้าสำนักการศึกษา การสาธารณูปโภค การประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือในรูปคณะกรรมการ ก็จะต้องผ่านการเลือกตั้งเช่นกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้น ที่เป็นข้าราชการประจำของเมืองหรือเทศบาล
.
การเลือกตั้งผู้บริหารหรือหัวหน้าสำนักต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้การบริหารเทศบาลเป็นไปตามความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่อาสามาทำงานเพื่อส่วนรวม จึงอาจเป็นระดับชาวบ้านธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองมืออาชีพเขี้ยวโง้ง หรือไม่ นี่จึงเป็นผลดีของภาษีทรัพย์สินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในท้องถิ่น จนทำให้คนดี ๆ ในท้องถิ่นอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมจริง ๆ มากขึ้น เป็นการปิดโอกาสที่นักการเมืองและข้าราชการประจำจะกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ
.
.
ผลร้ายของการไม่มีภาษีทรัพย์สิน
.
ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถมีระบบภาษีทรัพย์สินได้มาช้านานแล้ว ระบบภาษีบำรุงท้องที่ก็ยังใช้ราคาประเมินของทางราชการที่เก่ามากแล้ว ไม่สะท้อนมูลค่าปัจจุบัน เก็บภาษีก็ได้เพียงน้อยนิด เทศบาลส่วนมากก็ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้พอเพียงกับค่าใช้จ่าย รัฐบาลส่วนกลางก็ต้องส่งงบประมาณมาให้ใช้สอย จนทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ข้างต้นนี้เป็นภาพที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
.
ที่ดินเปล่าใจกลางกรุงมากมายปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เพราะไม่ต้องเสียภาษี ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ อุปทานที่ดินก็จำกัด เมืองก็ต้องขยายออกไปในแนวราบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราควรคิดใหม่ว่าการที่รัฐจัดหาระบบไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ ฯลฯ ผ่านหน้าที่ดินของเราโดยเราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรนั้น เราก็ต้องเสียภาษี ถ้าประเทศชาติของเรามีภาษีไม่พอ เราก็ต้องขึ้นภาษีทางอ้อม กลายเป็นความบิดเบี้ยวไปอีกต่างหาก
.
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนก็จะถูกบิดเบือนให้แปลกแยกกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีส่วนได้ มีส่วนเสียเพื่อรดน้ำพรวนดินระบอบนี้ ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้เสียภาษีทางตรงจากี่ครอบครอง จึงทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของเท่าที่ควร และกลายเป็นว่าท้องถิ่นเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลส่วนกลางอีกต่างหาก (แต่บางที่ ๆ กันดาร ไม่ควรไปตั้งถิ่นฐานตั้งแต่แรก ก็อาจไม่สามารถจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้อย่างเพียงพอ)
.
.
ติดขัดอยู่ที่ใคร
.
ผมเชื่อว่า เจ้าของที่ดินรายใหญ่ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขัดขวางระบบภาษีทรัพย์สินนั่นเอง ลำพังชาวบ้านทั่วไปที่ต้องถูกกะเกณฑ์ให้เสียภาษีปีละ 1-2% นั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมาก แต่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ คงไม่คิดเช่นนั้น การมีที่ดินมาก ต้องเสียภาษีมาก ย่อมทำให้ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ เสียประโยชน์เป็นอย่างมาก
.
ถ้ามีระบบภาษีทรัพย์สิน ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีการสำรวจว่าใครคือ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ บ้าง ซึ่งพวกนี้อาจไม่ต้องการเปิดเผยตัว จึงพยายามทำให้ข้อมูลการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นความลับ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่นำพาว่าการปกปิดข้อมูลการซื้อขาย ครอบครองทรัพย์สินเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการฟอกเงินของอาชญากร (เศรษฐกิจ)
.
ใครคือ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ คำตอบก็เห็นอยู่ทั่วไปเช่น นักการเมือง ข้าราชการใหญ่ ตระ***ลพ่อค้า หรือตระ***ลขุนนางใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพลใหญ่ และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งอาจกล่าวถึงหรือไม่ก็ได้
.
.
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (รัฐบาลไหนก็ได้) ที่หวังจะสถาปนาระบอบนี้ให้คงทนและเพื่ออนาคตของรัฐบาลเอง ต้องทำให้กฎหมายภาษีทรัพย์สินออกมาใช้ให้ได้ในประเทศไทย
.
.
* ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ที่ดิน ที่อยู่อาศัย Asian Institute of Technology, ประกาศนียบัตรการประเมินค่าทรัพย์สิน LRTI-Lincoln Institute of Land Policy ประกาศนียบัตรการพัฒนาที่อยู่อาศัย Katholieke Universitiet Leuven ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านอสังหาริมทรัยพ์อย่างต่อเนื่อง Email: sopon@thaiappraisal.org |