ดร.โสภณ พรโชคชัย
http://www.lbl.gov/Education/HGP-images/air-pollution.jpg
ทุกวันนี้ CSR หรือความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ถือเป็นประเด็น ของเล่นใหม่ ที่กำลังมาแรง และแทนที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนจะมุ่งเน้นที่ความรับผิดชอบต่อสังคมตามคำนิยาม กลับพยายามทำให้เป็นการอาสาทำดีแบบจับแพะชนแกะ นอกเรื่องอย่างมากจนบดบังบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมไปเสีย บทความนี้ผมได้รวบรวมประเด็นการเคลื่อนไหวเรื่อง CSR มาแจกแจงให้เห็นกันชัด ๆ ว่าอะไรคือเปลือก และอะไรคือแก่น แล้วเราจะเอาแต่เปลือกหรือแก่น
ประเด็นแก่นแท้
แก่นแท้ของ CSR ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ เรื่องการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (ไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้าน) เรื่องผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) กับธุรกิจ ซึ่งได้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง (ผู้ใช้แรงงาน) คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคมที่ได้รับผลกระทบ และเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงกับธุรกิจ จะสังเกตได้ว่าประเด็นเหล่านี้มีการพูดถึงกันบ้าง แต่ไม่มากนัก จนดูคล้ายไม่ใช่ประเด็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงกลับแทบไม่มีการกล่าวถึง ทั้งที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ เป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น
ยิ่งกว่านั้นในที่ประชุม CSR ทั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก มักจะมีการชูประเด็นเชิงรูปแบบ ได้แก่ การจัดทำรายงานเกี่ยวกับ CSR มาตรฐานที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย (soft laws) จรรยาบรรณและธรรมาภิบาล และการส่งเสริมให้คู่ค้าของเราเข้าร่วม CSR เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้แม้เกี่ยวข้องกับ CSR แต่ก็เป็นในเชิงรูปแบบ ไม่ได้เน้นที่เนื้อหาเรื่องการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบโดยตรง
จะเห็นได้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR ก็มีเพียงข้างต้น และต่อไปนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธุระโดยตรงของ CSR เป็นเพียงกระพี้ แต่ผู้เกี่ยวข้องมักชอบรณรงค์ เช่นประเด็นชุมชน ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เลี่ยงไปทำดีกับชุมชน
CSR นั้นเกี่ยวข้องกับชุมชนในประเด็นที่ธุรกิจต้องไม่ละเมิดต่อชุมชน ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน แต่ประเด็นที่รณรงค์กันกลับเป็นเรื่องการลงทุนในชุมชน (community investment) วิสาหกิจชุมชนกับวิธีการพัฒนา วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) กองทุนขนาดเล็ก (microfinance) กับการขจัดความยากจน รวมทั้งประเด็น เก๋ไก๋ คือการพัฒนาความสามารถ (capacity building) แทนการบริจาค และการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) เป็นต้น
การช่วยเหลือชุมชนหรือขจัดความยากจนไม่ใช่หน้าที่ของภาคธุรกิจ แต่ถ้าจะบำเพ็ญตนทำดีก็เป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา แต่สังคมก็ควรรู้ทันว่าไม่ควรให้การเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้มากลบ (เกลื่อน) หน้าที่ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในการไม่เบียดเบียนหรือละเมิดชุมชน หรืออีกนัยหนี่ง เราไม่ควรให้เกิดภาวะทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว จะสังเกตได้ว่ากิจการขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม มักชอบนักที่จะรณรงค์ในประเด็นการทำดีเพื่อชุมชนแบบน่ารักน่าชังเหล่านี้
ยำยำ ปัญหาสังคม
นอกจากนี้การรณรงค์ CSR ยังขยายขอบเขตออกไปสู่การทำดีต่อสังคมโดยรวม ซึ่งยิ่งมีแง่มุมที่หลากหลายเหลือเกิน เช่น เรื่องภาคเอกชนกับ MDGs (Millenium Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ เรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องความเป็นชายเป็นหญิง (gender) เรื่องโรคเอดส์ เรื่องแรงงานหญิง และเรื่องการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เป็นต้น CSR ขยายขอบเขตกว้างขวางกว่าการช่วยเหลือสังคมของ ปอเต็กตึ๊ง และ ร่วมกตัญญู เสียอีก
แม้ทุกฝ่ายในสังคมรวมทั้งภาคธุรกิจควรจะช่วยเหลือสังคม แต่การแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของธุรกิจ การทำดีนั้น เราย่อมได้รับผลดีกลับคืน อย่างน้อยก็เป็นการสบายใจที่ได้ทำดี ได้หน้า แต่บางทีการทำดี (นอกเรื่อง) เช่นนี้ สาธารณชนพึงตรวจสอบดูว่าเป็นการกระทำเพื่อเลี่ยงการทำให้ถูกต้องตามความรับผิดชอบซึ่งเป็นประเด็นแก่นแท้ของ CSR ข้างต้นหรือไม่
ชอบนักเรื่องสิ่งแวดล้อม
ประเด็นการรณรงค์ CSR ที่ขาดเสียมิได้ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการคุยกัน (อย่างเมามัน) เช่นในเรื่อง การบรรเทาความยากจนกับความคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) กับสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรทางทะเลกับการจัดการ เรื่องธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ (bio-diversity) เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับภาคธุรกิจ เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon footprint) และเรื่องเอ็นจีโอคาดหวังอะไรต่อภาคธุรกิจ เป็นต้น
ใครจะทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมก็ทำไป แต่อย่าได้ละเลยประเด็นแก่นแท้ของ CSR ที่หมายถึงการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดผู้อื่น ที่สำคัญ ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากภาคอุตสาหกรรมโดยรัฐไม่นำพาต่อการควบคุมตามกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากภาคธุรกิจอื่นหรือประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมแก่สาธารณชนจึงอาจไม่ได้ผล ผู้รณรงค์เองก็อาจไม่ได้คาดหวังผลอะไรนัก อาจคาดหวังเพียงขอให้ได้ทำ ขอให้ได้หน้า ก็พอ
ใช้คำศัพท์หรูมาวางเขื่อง
จะสังเกตได้ว่าการรณรงค์เรื่อง CSR นี้มักมีคำศัพท์ใหญ่ ๆ ใหม่ ๆ มา เขียนเสือให้วัวกลัว ตามที่อ้างไว้ข้างต้น เช่น MDGs ความเป็นหญิงเป็นชาย (Gender) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-diversity) หรือรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) เป็นต้น
นี่เป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งในการใช้คำย่อ คำฝรั่ง หรือคำที่ต้องแปลไทยเป็นไทย นัยเพื่อความเขื่อง ความเท่ หรือความขลัง แต่ทั้งหลายนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องการการรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมแต่อย่างใด แต่อาจเป็นเรื่องที่ธุรกิจหรือผู้บริหารบางรายในธุรกิจขนาดใหญ่อาจมีความเสน่หาหรือสนใจเป็นพิเศษในประเด็นเหล่านี้จึงเคลื่อนไหวออกมา
ผมขอสรุปย้ำว่า การรณรงค์เรื่อง CSR เป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นส่วนมากกลายเป็นการเบี่ยงไปจากสิ่งที่ต้องทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบไปสู่การอาสาทำดีแบบลูบหน้าปะจมูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว ทำดีให้จริงจังดีกว่าครับ ยังไงเสียความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อย่าลืมว่า ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด หรอกครับ
หมายเหตุ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) เป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ Email: sopon@thaiappraisal.org
คำแปลของ CSR โดย ห้องสมุด Wikipedia คือ is an expression used to describe what some see as a companys obligation to be sensitive to the needs of all of the stakeholders in its business operations และตอนหลังมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมว่า This obligation is seen to extend beyond the statutory obligation to comply with legislation แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะในสังคมธุรกิจที่ฉ้อฉลมักจะอ้างการอาสาทำดีมาปกปิดการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Corporate_social_responsibility
โปรดานบทความ โสภณ พรโชคชัย CSR, ทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว?!? กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2551 หน้า 4 (http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market175.htm)
MDGs คือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ของสหประชาชาติ 8 ประเด็นคือ ขจัดความยากจน ให้เด็กทุกคนได้เรียนจบประถมศึกษา ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ ลดอัตราการตายของเด็ก พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ ต่อสู้โรคเอดส์และโรคสำคัญอื่น รักษาสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการพัฒนาในประชาคมโลก โปรดดูเพิ่มเติมที่ http://www.unicef.org/thailand/tha/overview_5963.html
ความเป็นหญิงเป็นชาย (Gender) ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐ เศรษฐกิจ รวมทั้งกระบวนการและสถาบันต่างๆ ทั้งในระดับจุลภาพและมหภาค (จากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการส่งเสริมความเสมอภาคชายหญิง http://www.gender.go.th/template.php?vname=genderterm/idxdic.html)
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง สภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศต่างๆ ทั้งบนบก ในทะเล ในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลองบึงต่างๆ เรียกว่ามีความหลากหลายในระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (Species) ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์และจุลินทรีย์ก็ตาม นอกจากนั้น ภายในชนิดพันธุ์ยังมึความหลากหลายทางพันธุกรรมอีกด้วย โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.biotec.or.th/biodiversity/
รอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) คือ การวัดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากของมนุษย์ โดยการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น โดยทางตรงได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัย และการเดินทาง ส่วนทางอ้อม ได้แก่ กระบวนการผลิตสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน (ข้อมูลจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ http://www.nsm.or.th/modules.php?name=News&file=article&sid=1408) |