กระผมเป็นข้าราชการคนหนึ่ง กระผมติดตามวิธีการลดจำนวนข้าราชการมาตลอด การจัดกลุ่ม กระทรวงทบวง กรม ครั้งล่าสุดแม้จะเหมาะสมในระดับหนึ่งแต่ก็ยังมีแนวทางทำให้กระชับได้อีก(โดยเฉพาะจำนวนข้าราชการ) ด้วยการสังคายนาพระราชบัญญัติที่แต่ละกระทรวงทบวงกรมใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการทุกคนในแต่ละสังกัด(พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจออก กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ฯลฯ) ปัจจุบันพบว่าภารกิจของต่างกระทรวงต่างกรมที่ปรากฏในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวซ้ำซ้อนกันมากมาย การจัดกลุ่มหน่วยงานครั้งนั้นกระทำโดยไม่มีการสังคายนาพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำให้ยังคงปรากฏข้าราชการที่ทำหน้าที่เดียวกันในหลายหน่วยงาน ประชาชนที่ต้องมาติดต่อก็ไม่ได้รับความสะดวกเพราะเรื่องเดียวกันต้องไปติดต่อหลายหน่วยงาน อำนาจการอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่องเดียวกันเป็นอำนาจของหลายหน่วยงานที่หลายพระราชบัญญัติให้อำนาจควบคุมกำกับดูแล ตลอดเวลาที่ผ่านมามากมายหลายเรื่องจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะบางกรณีหน่วยงานหนึ่งอนุญาตแต่อีกหน่วยงานหนึ่งไม่อนญาต ฯลฯ....วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างถูกลำดับขั้นตอน อย่างมีประสิทธิภาพและได้มีประสิทธิผลเต็มที่ คือ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ หรือ นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะบุคคลที่เป็นกลาง มีความรู้ทางกฎหมายในระดับแนวหน้าของประเทศ ที่สำคัญต้องเป็นคนอยู่ในศีลในธรรม(มีคุณธรรม) ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ฯลฯ ร่วมกันเป็นคณะกรรมการสังคายนาพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวทุกฉบับ(เน้นอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเป็นเป้าหมายหลัก) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานก็อย่าให้น้ำหนักกับความเห็นของข้าราชการในหน่วยงานนั้น ๆ หรือเคยสังกัดหน่วยงานนั้น ๆ จนเกินเหตุ เพราะไม่มีข้าราชการคนใดเห็นด้วยกับการลดทอนอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตน ด้วยจะทำให้เงินงบประมาณที่จะได้รับในอนาคตต้องถูกลดทอนลง ระดับชั้นของข้าราชการ(โดยรวมทุกระดับ)จะลดลง(ด้วยจำนวนคนโดยรวมลดลง) เครือข่ายผลประโยชน์นอกระบบทั้งส่วนตัวและส่วนรวมของหน่วยงาน( ถ้าหากมี )จะขาดหายไปฯลฯ
ผลต่อไปที่สำคัญยิ่งคือ ในอนาคตข้าราชการและหรือหน่วยงานราชการ จะไม่แพ้คดีในศาลเพราะเหตุกฎหมายเก่า ขัดหลักวิชาการ ขัดรัฐธรรมนูญ ฯลฯ อีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ประหยัดเงินงบประมาณที่ใช้ต่อสู้คดีและใช้เพื่อการชดใช้ค่าเสียหายคามคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้อย่างมาก แนวคิดนี้มีโอกาสสำเร็จสูงมาก แทบไม่มีโอกาสล้มเหลวหรือสูญเปล่าเลย กรุณาอย่าคิดว่าการสังคายนาพระราชบัญญัติทุกฉบับดังกล่าวทำยากและต้องใช้เวลานาน ประสบการณ์การทำงานทำนองนี้ในอดีตของกระผมได้ข้อสรุปว่าเวลาที่จะต้องใช้ทั้งหมดเพื่อการดังกล่าวเมื่อเทียบกับเวลาที่พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีเลี่ยงไปเลี่ยงมาโดยไม่ทบทวนพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก ( ที่ต้องทำแล้วทำอีกเริ่มแล้วเริ่มอีก ) กระผมพบว่าวิธีทบทวนพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรกใช้เวลาโดยรวมน้อยกว่ามาก ขอฝากสาระสำคัญยิ่งยวด ๒ ประการคือ ประการแรก รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๑ บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นทุกปัญหาต้องเริ่มต้นที่การตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหรือสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอันดับแรก เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องถ้าพิกลพิการ การดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างตามกำหมายที่พิกลพิการนั้นจะพิกลพิการตามไปด้วยโดยอัตโนมัติอย่างไม่มีโอกาสแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้เลย ประการที่สอง แนวทางที่กระผมเสนอเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องต้องตาม รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๘
|