เรียน คุณ BCM
สำนักงาน ก.พ.ร. ขอตอบคำถามท่านดังนี้
1. หากความเสี่ยงขององค์กรที่ท่านสอบถาม หมายถึง ภัยพิบัติ เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ระบบเทคโนโลยีล่ม เป็นต้น ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการเรื่อง BCM หน่วยงานสามารถเลือกมาดำเนินการเพียง 1 ภัยก่อนได้ จากนั้นต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบให้การปฏิบัติงานขององค์กรอาจต้องหยุดชะงักได้
2. หากความเสี่ยง หมายถึง 1 งาน/ภารกิจ ถ้าหน่วยงานนำมาเป็นต้นแบบ/นำร่อง แล้วจะขยายผลจัดทำแผนให้ครอบคลุมทุกงาน/ภารกิจต่อไป ก็สามารถเลือกมาดำเนินการ 1 งานก่อนได้
3. อย่างไรก็ตามหลักของการจัดทำแผนความต่อเนื่อง BCP จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่หน่วยงานจะประสบภัยต่างๆ ที่อาจทำให้งานสำคัญหยุดชะงักและก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวอย่างครอบคลุม เพื่อให้แผนความต่อเนื่องที่จัดทำขึ้นมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริง
ดังนั้น หน่วยงาน ควรวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กรให้ครอบคลุมทุกภัยที่คาดว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับองค์กรก่อน เพื่อให้สามารถระบุกิจกรรมหรืองานที่สำคัญที่ไม่สามารถหยุดชะงักการดำเนินงานได้แม้จะประสบภัย และนำไปสู่การเตรียมทรัพยากรเพื่อสร้างความพร้อมให้แก่องค์กรได้อย่างเหมาะสมและตามความจำเป็นที่ต้องใช้ในงาน ซึ่งการเตรียมความพร้อมทรัพยากรตามแนวทางการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตมีทรัพยากรที่ต้องเตรียมพร้อมอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่ 1 ด้านอาคาร/สถานที่ปฏิบัติงานสำรอง 2 ด้านวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ/การจัดหาจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ 3 ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลที่สำคัญ 4 ด้านบุคลากรหลัก 5 ด้านคู่ค้า/ผู้ให้บริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ โดยวิเคราะห์ตามความจำเป็นที่ต้องใช้ในงานที่สำคัญเพื่อไม่ให้หยุดชะงักของการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ หากหน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมครบทั้ง 5 ด้านแล้วก็จะสามารถรับมือกับภัยที่อาจคุกคามได้อย่างครอบคลุม โดยสามารถดำเนินการตามแผนความต่อเนื่องได้ทันท่วงที
ขอขอบคุณ |