Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้

เวทีความเห็น และรับเรื่องร้องเรียน

สวัสดิการที่ดีเกินไปคือคอร์รัปชั่น ขาด CSR


สวัสดิการที่ดีเกินไปคือคอร์รัปชั่น ขาด CSR

ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/pornchokchai

           เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ผมไปร่วมงานนิทรรศการของการสัมมนานานาชาติเรื่องคอร์รัปชั่น (the 14th International Anti-Corruption Conference) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ปปช. ที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเป็นระยะ ๆ นั้น  ผมได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า สวัสดิการที่ดีเกินไปคือคอร์รัปชั่น ขาด CSR
           บางท่านอาจจะงงว่าสวัสดิการที่ดีเกินไปเกี่ยวอะไรกับ CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ) เพราะนึกว่า CSR คือการอาสาทำดีกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ประเด็นหลักของ CSR ก็คือ การมีวินัยไม่ข้องแวะกับการคอร์รัปชั่นหรือการโกงกิน  
           สวัสดิการที่ดีเกินไปย่อมเป็นต้นทุนที่สูง ส่งผลเสียโดยตรงต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือหุ้นทั้งหลายโดยเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อยในกรณีบริษัทมหาชน ตลอดจนผู้บริโภคเพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง
           เราคงเคยได้ยินว่าสายการบินบางประเทศ ให้สิทธิอดีตแอร์โฮสเตสที่ลาออกไปแล้ว ขึ้นเครื่องบินข้ามทวีปเกือบ 20 ชั่วโมงโดยเสียค่าธรรมเนียมเพียง 500 บาท จากค่าโดยสารที่เก็บตามอัตราปกติราว 50,000 บาท โดยแจ้งล่วงหน้าเพียงวันเดียวก็ได้ที่นั่งแล้ว  ถ้าหากเป็นอดีตกัปตันที่ลาออกแล้ว ก็เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1,000 บาท แถมได้นั่งชั้นธุรกิจราคา 130,000 บาท
           กรณีอย่างนี้ เมื่อมีผู้ไปใช้ (อภิ) สิทธิ์กันมาก ๆ รวมทั้งสมาชิกครอบครัวอีกต่างหาก อาจคิดเป็นเงินไม่รู้กี่สิบล้านบาทที่สูญเสียไปในแต่ละปี  เงินเหล่านี้ควรเอามาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินปันผล แบ่งให้พนักงานทั่วไปเป็นโบนัส แบ่งให้ผู้บริโภคเป็นส่วนลด หรือแบ่งให้สังคมเป็นการคืนกำไร จะดีกว่าไม่น้อย
           นอกจากนี้เรายังคงเคยได้ยินวิสาหกิจขนาดใหญ่ในบางประเทศให้พนักงานใช้สาธารณูปโภคที่ตนเองเป็นผู้ผลิตขึ้นในราคาถูกหรือฟรีกันแทบไม่ต้องยั้ง  อย่างนี้ผู้ถือหุ้น และผู้บริโภคเดือดร้อน เพราะต้องแบกรับภาระมากมาย   สุดท้ายพนักงานเหล่านี้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่กีดขวางการพัฒนาประเทศ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น แต่ตนเองขาดอภิสิทธิ์
           จะสังเกตได้ในบางประเทศ มักจะแบ่งผลประโยชน์มาให้พนักงานได้ เสพสุข กันอย่างเต็มอิ่ม  ในแง่หนึ่งเป็นการ ปิดปาก ไม่ให้พนักงานก่อหวอดในเรื่องที่กระทบต่อการโกงกินในระดับสูง  ถือเป็นการโกงกินแบบ บุปเฟต์ หรือแบบทั่วถึง ตามลำดับขั้น
           วิสาหกิจขนาดใหญ่ในบางประเทศ อาจสร้างที่จอดรถใหญ่โตไว้ให้พนักงานจอดรถ คงกลัวสีรถพนักงานเสียหาย  แต่สำหรับลูกค้าผู้มีอุปการคุณกลับให้จอดกลางแดด  สู้เทสโก้โลตัสไม่ได้ที่เขาทำที่จอดรถให้ลูกค้าอย่างเพียงพอและยังทำตะแกรงหลังคาให้ลูกค้าอีกด้วย  นอกจากนี้วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายต่อหลายแห่งยังปรนเปรอผู้บริหารระดับสูงด้วยงบประมาณ เลี้ยงดูปูเสื้อ กันอย่าง อิ่มหมีพีมัน  แม้แต่เงินติดกันเทศน์ยังมีงบประมาณจัดหาให้หรือเบิกได้!
           การโกงกันจนเป็นปกติวิสัยก็เห็นได้จากการที่ข้าราชการระดับสูงในบางประเทศ ได้รับสิทธิ์ไปนั่งในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ  บางคนถ่างนั่งหลายเก้าอี้  ซึ่งแค่นั้นก็ไม่รู้จะ อู้ฟู่ จากเบี้ยประชุมและอภิสิทธิ์อื่น ๆ กันขนาดไหนแล้ว  รัฐวิสาหกิจบางแห่งกำหนดกรรมการได้ใช้บริการของรัฐวิสาหกิจไปตลอดชั่วชีวิตแม้จะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ตาม
           อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องรถประจำตำแหน่ง จะเห็นได้ว่า กรรมการและผู้บริหารของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนใหญ่โตบางประเทศ ได้งบซื้อรถประจำตำแหน่งราคาหลายล้านบาท  นี่ยังไม่นับรวมค่าซ่อม ค่าน้ำมันที่ ซด กันมหาศาลต่างน้ำ
           นอกจากนี้ในเวลาเดินทาง  บิ๊ก ๆ ทั้งหลายยังได้ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ และโรงแรมชั้นหนึ่ง กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน  จะสังเกตได้ว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจบางประเทศ บินไปไหนต่อไหนบ่อยจนเสมือนการทำงานที่รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นงานอดิเรก  ทุกวันนี้คงหาใครได้ยากที่จะใจแข็งถอนตัวจากอภิสิทธิ์มหาศาลเหล่านี้  เพราะต่างถือหลัก น้ำขึ้นให้รีบตัก หรือ T Who T It (ทีใครทีมัน)
           บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมวิสาหกิจขนาดใหญ่จึง ปรนเปรอ พนักงานได้อย่าง น่าอิจฉา  ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ โบนัสและอื่น ๆ ที่สูงกว่าวิสาหกิจทั่วไป  เรื่องนี้คงไม่ใช่เพราะผู้บริหารของวิสาหกิจเหล่านั้นมีความเก่งกล้าสามารถเหนือมนุษย์ที่ตรงไหน  แต่เป็นเพราะล่านั้นเป็นวิสาหกิจ (กึ่ง) ผูกขาด เช่น สาธารณูปโภค สถาบันการเงิน หรือเป็นวิสาหกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เป็นต้น
           วิสาหกิจเหล่านี้อาศัยต้นทุนที่ต่ำจากสถานะ (กึ่ง) ผูกขาดหรือจากการขุดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ทำให้ได้กำไรงาม จึง โยน ผลประโยชน์มาให้พนักงาน  อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าพนักงานของวิสาหกิจเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตหลักเลย  ปัจจัยการผลิตหลักกลับเป็นอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร หรือกระทั่งใบอนุญาตหรือสัมปทานต่างหาก  พนักงานอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้จึงเป็นแค่ เบี้ย เท่านั้น
           อาจสรุปได้ว่าการกระทำในทำนองโกงเช่นนี้ นอกจากไม่อาจสร้างแบรนด์ให้กับวิสาหกิจแล้ว ยังเป็นการกัดกร่อนทำลายแบรนด์ของตนเอง  สังคมสูญเสียความเชื่อมั่น  ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับความเสียหาย เงินปันผลก็อาจไม่ได้รับ หรือได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่สำคัญผู้บริโภคก็ต้องแบกรับภาระมากขึ้น เป็นต้น
           ดังนั้นต่อให้วิสาหกิจเหล่านี้ทำกิจกรรม CSR ประเภทอาสาทำดี ช่วยเหลือสังคม ปลูกป่า บริจาคกันเป็นบ้าเป็นหลังอย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากเป็นเพียงการ แก้ผ้าเอาหน้ารอด ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือกระทั่ง ลูบหน้าปะจมูก หรือกลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้บริหารวิสาหกิจนั้น ๆ ได้สร้างชื่อเสียงเพื่อปูทางสู่การเมือง หรือสู่การมีสถานะชั้นสูงในสังคม
           วิสาหกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกประเทศที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและมี CSR จึงต้องแก้ไขปัญหาการโกงในมิติของการให้สวัสดิการที่เกินพอดีนั่นเอง

pornchokchai    17 ธันวาคม 2553 17:43:54    IP: 125.24.139.xxx
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th