ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ เนื่องจากพบว่าแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับสร้างปัญหามากกว่า ดังนี้
1. มีปรากฏการณ์การฟ้องร้องและการอุทธรณ์เกี่ยวกับการขอต่ออายุราชการมากมาย ทุกๆปี เพราะเกิดความไม่โปร่งใส เล่นพรรคเล่นพวกใช้อิทธิพลเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการ ข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ควรคำนึงถึงประโยชน์ของหลวงและสร้างสรรความเจริญให้สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการการศึกษา ที่มีภาระหน้าที่ในการอบรม บ่มสอนให้เยาวชนของชาติมีจิตสำนึกสาธารณะ มากกว่าประโยชน์ส่วนตน แต่กลับกลายเป็นว่าการขยายอายุราชการอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นการตอบแทนบุญคุณพวกพ้อง อาจารย์ระดับซี 9 ขึ้นไปถือว่าเป็นผู้อาวุโส ยอมรับได้ว่ามีความรู้ความสามารถ เลี้ยงชีพด้วยการเป็นอาจารย์มาตลอดชีวิต แต่ในอายุ 60 ปีไปแล้ว ก็มีผู้อาวุโสประเภท " พี่แก่แล้ว ทำมามากแล้ว น้องๆทำบ้าง จะเอาอะไรกับคนแก่" อยู่ไม่น้อย หลายๆคน หลัง 60 ก็เริ่มป่วย ท่านควรพัก แต่ต้องมาสอน ทำงานวิจัย และแม้แต่แอบดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ ก.พ.อ. อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่ายังมีผู้อาวุโสที่น่านับถือ และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและมีคุณค่าอย่างมหาศาลกับหน่วยงาน หลังจากที่ได้รับการขยายอายุราชการเป็น 65 ปี บางคนตลอดอายุราชการอาจมีความรู้และผลงานวิชาการมากมาย แต่มีปัญหาการทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานอย่างรุนแรง โดยไม่ร่วมมือในงานใดๆทั้งสิ้น มีปัญหาด้านมนุษยสัมพันธ์อย่างมาก ฉลาดในการหลบเลี่ยงงานโดยอาศัยความอาวุโส หากไม่ได้ร่วมงานด้วยก็คงไม่รู้ว่าสภาพการทำงานเป็นอย่างไร ผู้มีอำนาจในการพิจารณา หากมองแต่ในแง่ความรู้ความสามารถอย่างเดียวก็คงต้องต่ออายุให้ถึง 65 ปีทุกคนไป เพราะระดับรองศาสตราจารย์ก็ย่อมต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ถ้าพิจารณาในด้านพฤติกรรมการทำงานจะพบว่าการต่ออายุไปอีก 5 ปี หน่วยงานก็คงไม่ได้รับประโยชน์จากบุคคลนั้นเลย เพราะตลอดอายุราชการหลายสิบปีก็ไม่เคยเอื้อเฟื้อ ร่วมมือ สนับสนุนและมีเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมงานเลย เมื่อมีใครคัดค้านการขอขยายเวลาฯ ก็มักจะข่มขู่ ฟ้องร้องเอาผิดผู้ที่ไม่เห็นด้วย อาจารย์ผู้อ่อนอาวุโสกว่าต่างก็กลายเป็นจำเลยในโรงในศาล ไม่ต้องทำงานทำการกัน เพราะต้องคอยทำหนังสือชี้แจงกันไปมา จากประสบการณ์ส่วนตัวทำให้สรุปได้ว่า คนยิ่งมีความรู้สูง ก็ยิ่งเห็นแก่ตัว และเอาเปรียบผู้อื่นได้อย่างแนบเนียน อีกทั้งการศึกษาที่สูงส่งไม่ได้เป็นใบรับประกันคุณธรรมและจริยธรรมในตัวมนุษย์นั้นๆ ทำให้ระลึกถึงคำที่ท่าน ดร.อาจอง ชุมสาย เคยกล่าวไว้ว่าสังคมต้องการคนดี คนเก่งสร้างได้ แต่คนดีสร้างยาก
2.การขยายอายุราชการอาจารย์เป็น 65 ปี ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องอัตรากำลังในอนาคตของหน่วยงาน ผู้เกษียณฯที่ต่ออายุ ยังคงทำงานต่อไปได้อีกเพียง 5 ปี จะเป็นช่วง 5 ปีที่เกิดสูญญากาศ คือหน่วยงานจะไม่มีโอกาสได้รับอัตรากำลังใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิด ในบางหน่วยงานเกิดวิกฤติเรื่องอัตรากำลังแล้ว ทั้งหน่วยงานมีแต่ผู้สูงอายุ บุคลากรที่อายุน้อยที่สุดก็ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ผู้อาวุโสที่เป็นอาจารย์ระดับรองศาสตราจารย์กินเงินเดือนรวมเงินตำแหน่งก็อยู่ราวๆ5-70,000บาท ท่านอยู่อีก 5 ปีแล้วก็ไป หน่วยงานจะเป็นอย่างไรในอนาคตไม่ใช่เรื่องของท่านใช่หรือไม่ เห็นทีว่าหน่วยงานหลายๆหน่วยคงจะสูญพันธุ์กันไปบ้าง เราต้องการอาจารย์อายุน้อยๆเพื่อเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ รองรับการทำงานในอนาคต ที่นับวันจะมีแต่อาจารย์อาวุโสเกษียณไปอย่างต่อเนื่อง ในข้อนี้เห็นได้ว่าขัดแย้งกับแนวคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับทัดเทียมกับประเทศข้างเคียง แต่หากคนไทยที่มีระดับความรู้ขนาดนี้ เป็นถึงอาจารย์ ยังยึดติดผลประโยชน์ส่วนตน ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ จะปฏิรูปการศึกษาไปอีกกี่ครั้งก็ไม่มีวันสำเร็จ ถ้าไม่ปฏิรูปคนเสียก่อน
3.ปัจจุบันนี้มีเกณฑ์ต่างๆเกิดขึ้นมามากมายเพื่อควบคุมคุณภาพการศึกษา อาจารย์ต้องร่วมมือกันเตรียมเอกสารเพื่อพร้อมรับการตรวจประกันคุณภาพการศึกษาปีละ 2 ครั้ง ทั้งจากภายในและภายนอก รวมถึงการออกนอกระบบ พนักงานมหาวิทยาลัยมีสถานภาพทีไม่ชัดเจน ทำงานหนักเพราะมีการประเมินงานกันทุกปี ผู้อาวุโสบางคนไม่ทำงานเอกสารเหล่านี้และไม่สนใจ โยนให้ผู้อ่อนอาวุโสทำหมด เพราะคิดว่าตัวเองใกล้เกษียณแล้ว ถึงต่ออายุก็ไม่ทำงาน คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถไม่มีแรงจูงใจในการมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ แทนที่จะขยายอายุให้ผู้สูงอายุ ควรนำงบประมาณมาสร้างกำลังในอนาคตมากกว่า ในอัตรารายได้ของผู้เกษียณส่วนใหญ่ สามารถจ้างอาจารย์รุ่นใหม่ๆได้ 2-3 คน ควรจัดงบประมาณให้เป็นสวัสดิการ ทุนการศึกษา ฯลฯ เนื่องจากการสร้างคนต้องใช้งบประมาณและเวลา ส่วนอาจารย์อาวุโสที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และประสบการณ์ ก็มีทางออกโดยการจ้างเป็นรายปี หรือเชิญมาสอนเป็นอาจารย์พิเศษรายวิชา หรืออีกรูปแบบที่น่าสนใจ คือมหาวิทยาลัยจัดตั้งสถาบันประเภท "คลังสมอง"ของมหาวิทยาลัย โดยทำเป็นทำเนียบอาจารย์เกษียณฯที่มีความรู้ด้านต่างๆ เชิญท่านเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ เป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัยของบุคลากรหรือนักศึกษาระดับต่างๆ เป็นreaderอ่านผลงาน และพิจารณางานวิจัย ฯลฯอีกมากมาย ทางออกลักษณะนี้น่าจะไม่ก่อให้เกิดความกดดันกับทุกๆฝ่าย ไม่ต้องฟ้องร้องเป็นความกับหน่วยงานหรือบุคคลใด ผู้เกษียณฯยังคงได้รับบำนาญหรือบำเหน็จ บวกกับค่าตอบแทนจากการทำงานเป็น"คลังสมอง"ของ
มหาวิทยาลัย และสามารถทำงานวิชาการอิสสระได้อีก นอกเสียจากท่านจะเสียดายเงินเดือนที่เคยได้มากกว่าจะยอมเสียสละเพื่อหน่วยงานที่ท่านอาศัยหาเลี้ยงชีพมาจนถึงอายุ 60 ปี |