การพัฒนาการบริหารราชการแบบบูรณาการ
การปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
1. การพัฒนาและส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการจัดบริการสาธารณะและการเปิดให้หน่วยงาน/องค์กรในภาคส่วนอื่นสามารถเสนอตัวเข้ามาให้บริการสาธารณะของรัฐ
1.1 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาคให้ชัดเจนขึ้นและสามารถบริหารราชการแบบบูรณาการได้ดียิ่งขึ้น และจากการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบการบริหารราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้การบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ มีการพัฒนาระบบงานภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพ จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
1.2 อัตลักษณ์ของการให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะ คือ หน่วยราชการยังคงมีหน้าที่และรับผิดชอบต่อประชาชนในการเข้าถึงและได้รับบริการของรัฐที่มีคุณภาพ แต่รูปแบบการดำเนินงานบริการอาจมีได้หลากหลายและยึดหยุ่น โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดรูปแบบและวิธีการจัดบริการ รวมทั้งอาจเข้ามาร่วมให้บริการในบางขั้นตอน ทำให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุดตามสภาพกลุ่มบุคคล ชุมชน วัฒนธรรม และพื้นที่ และนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการสาธารณะ ดังนี้
1) การยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดบริการสาธารณะ
2) การพัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณะให้ดีกว่าเดิม
3) การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ให้บริการสาธารณะในการริเริ่มพัฒนารูปแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย
4) การยกระดับความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการให้บริการสาธารณะ กลไกการแข่งขันเป็นการขยายโอกาสและความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐของประชาชนผู้รับบริการ โดยเฉพาะโอกาสในการได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและทั่วถึงของผู้รับบริการทุกระดับในสังคม
1.3 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แสวงหาและพัฒนาต้นแบบโดยดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขต อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อพัฒนากรอบแนวทางและเครื่องมือทางเทคนิคในการให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะ โดยศึกษากรณีตัวอย่างจากการดำเนินงานของประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ และประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำแนวทางและเครื่องมือทางเทคนิค พร้อมทั้งข้อดีและข้อเสียมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้ภาคส่วนอื่น โดยเฉพาะภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะที่เป็นบทบาทเดิมของภาครัฐ ทั้งในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการสนับสนุนเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ไม่เกิดการซ้ำซ้อน
1.4 การนำเครื่องมือที่ค้นพบไปทดลองวิเคราะห์จากตัวอย่างจริง โดยสำนักงาน ก.พ.ร. คัดเลือกหน่วยงานด้านการบริการที่เหมาะสม และหน่วยงานต้นสังกัดให้ความร่วมมือ อย่างน้อย 1 แห่ง มาดำเนินการทดลองวิเคราะห์ เพื่อดำเนินการศึกษาและร่างกฎหมายเพื่อรองรับแนวทางดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อไป โดยให้ครอบคลุมงานหลากหลายประเภท ดังนี้
1) การให้บริการที่มีภาคเอกชนให้บริการและมีสภาพการแข่งขันอยู่แล้ว เช่น การจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงานและทักษะต่าง ๆ (เช่น อบรมคอมพิวเตอร์) การให้บริการการศึกษา การให้บริการสาธารณสุข เป็นต้น
2) การให้บริการที่ยังไม่มีสภาพการแข่งขัน ซึ่งในกรณีนี้ ภาครัฐอาจมอบอำนาจให้เอกชนไปดำเนินการแทน โดยการแข่งขันจะเกิดขึ้นในช่วงประมูลงาน และช่วงต่อสัญญา แต่จะไม่มีการแข่งขันในระหว่างการดำเนินงานตามสัญญา
3) พัฒนา/ปรับปรุงแนวทางการปรับปรุงขอบเขต อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่ให้ภาคส่วนอื่น มีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะให้เป็นคู่มือปฏิบัติ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 15 สิงหาคม 2557 18:41:24