5. ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (Government Evaluation System : GES)
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ได้มีมติเห็นชอบระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ เพื่อให้มีการบูรณาการระบบการติดตามและประเมินผลภาครัฐให้เกิดความเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนและภาระงานเอกสารเกี่ยวกับการรายงานของส่วนราชการลง ลดตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลให้เหลือเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ โดยมีการปรับปรุงกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ จาก 4 มิติ เป็น 2 มิติ ดังนี้
มิติภายนอก (ค่าน้ำหนักร้อยละ 70) ประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่
1) การประเมินผลกระทบ เป็นการวัดผลกระทบในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานภาครัฐที่มีต่อประชาชน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ
2) การประเมินประสิทธิผล (ผลผลิตและผลลัพธ์) ประกอบด้วย ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายระดับกระทรวง ระดับกลุ่มภารกิจ (ถ้ามี) และระดับกรม รวมถึงระดับความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวง (ถ้ามี)
3) การประเมินผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (Benefit-Cost Ratio) หรือการประเมินประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย (Cost-Effectiveness) ทั้งนี้ การประเมินผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย คือ ผลการปฏิบัติภารกิจที่สามารถคิดเป็นมูลค่าทางการเงินได้ โดยเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่าย และการประเมินประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย คือ การประเมินการบรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติภารกิจนั้นต่อค่าใช้จ่าย
4) การประเมินคุณภาพ ได้แก่ การวัดระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้กำหนดนโยบายที่มีต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้บริการ และกระบวนการให้บริการของหน่วยงานภาคราชการ
มิติภายใน (ค่าน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 30) ประกอบด้วย การประเมิน 2 ด้าน ได้แก่
1) ด้านประสิทธิภาพ ประกอบด้วยตัวชี้วัดเกี่ยวกับ ต้นทุนต่อหน่วย สัดส่วนค่าใช้จ่ายจริงต่อค่าใช้จ่ายตามแผน ปริมาณผลผลิตที่ทำได้จริงเปรียบเทียบกับแผนสัดส่วนผลผลิตต่อทรัพยากร
2) ด้านการพัฒนาองค์การ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาขีดสมรรถนะการบริหารจัดการขององค์การให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินงานในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวข้างต้นได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไปก่อน และเมื่อดำเนินงานตามระบบประเมินผลดังกล่าวในส่วนราชการแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับใช้ในการประเมินผลของจังหวัดและองค์การมหาชนต่อไป
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 20 ธันวาคม 2555 15:15:47 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 25 ธันวาคม 2555 15:50:58