การปรับปรุงระบบประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวง
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ผลักดันให้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงใน 5 ยุทธศาสตร์ โดยจัดทำเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบ นำไปผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ได้แก่ ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยทางถนน ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (คุณภาพน้ำ) และยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (คุณภาพอากาศและหมอกควัน)
ต่อมาได้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงในยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายร่วมกันและการจัดทำตัวชี้วัดร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่มีการกำหนดตัวชี้วัดร่วม และประเมินผลสำเร็จร่วมกันตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ประกอบด้วย 9 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1) ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนภาคใต้ กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3) ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยทางถนน กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4) ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (คุณภาพน้ำ) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม
5) ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (คุณภาพอากาศและหมอกควัน) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6) ยุทธศาสตร์ข้าวไทย กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม
7) ยุทธศาสตร์พลังงานผสม (เอทานอล) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม
8) ยุทธศาสตร์เอดส์ กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ
9) ยุทธศาสตร์การปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศ กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน
การบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงในยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายร่วมกัน เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงาน นอกเหนือไปจากการเน้นบทบาทหน้าที่เฉพาะของแต่ละ่วยงาน มีการกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการร่วมกันในภาพรวมระดับประเทศและระดับกระทรวงและเน้นทิศทางการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการระหว่างกระทรวง กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงกรอบการจัดทำคำรับรองและการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ที่ต้องร่วมดำเนินการหลายกระทรวงจึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย โดยให้มีการวัด ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงที่มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างกระทรวง (มีน้ำหนักร้อยละ 10) เป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวงซึ่งจะทำให้การบริหารงานแบบบูรณาการบรรลุตามเป้าหมายของภารกิจที่ต้องร่วมดำเนินการกันหลายกระทรวงเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ผลักดันให้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงครบทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยจัดทำเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบนำไปผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ รวมทั้งสิ้น 22 ตัวชี้วัด
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2555 16:56:46 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 มกราคม 2556 16:52:18