เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร.
จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การถ่ายโอนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานและงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน” ณ ห้องกษัตริย์ศึก 1 โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมี
นายนครเขตต์ สุทธปรีดา รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ให้เกียรติเปิดงานพร้อมบรรยายสรุปเกี่ยวกับ
แนวทางการถ่ายโอนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน และงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน
รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า “ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.ร. ให้ถ่ายโอนงานด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของส่วนราชการต่างๆ ให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (เม.ย. 53 - ก.ย. 54) ถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานและติดตามประเมินผลจำนวน 37 งาน (18 ส่วนราชการ)
ระยะที่ 2 (ต.ค. 54 - ก.ย. 55) เตรียมการและถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 56 งาน (18 ส่วนราชการ) และ
ระยะที่ 3(ต.ค. 55 เป็นต้นไป) เตรียมการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐในด้านอื่นๆ นอกจากภารกิจด้านตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานกับหน่วยงานต่างๆ
เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน การขอขยายหน่วยหรือจัดตั้งหน่วยใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งองค์การมหาชน โดยมีขอบเขตการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน ประกอบด้วย การปรับบทบาทภารกิจ การจัดโครงสร้างส่วนราชการ การจัดระบบและกระบวนการทำงาน และการจัดกรอบอัตรากำลัง ก.พ.ร. จึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการถ่ายโอนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานเพิ่มขึ้น ในครั้งนี้จึงได้เชิญส่วนราชการที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนการถ่ายโอนงานเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการถ่ายโอนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานและงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดโครงสร้างระบบราชการที่เหมาะสม สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งคุณภาพการให้บริการ ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการและความคุ้มค่าในภารกิจต่อไป”
นางสาวนลินี จันสว่าง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานและกิจกรรมที่อยู่ในหลักการที่จะพิจารณาให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมดำเนินการหรือรับไปดำเนินการแทนรัฐ ได้แก่
งานวิจัย งานฝึกอบรม งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ งานสวัสดิการสังคม/งานสังคมสงเคราะห์ งานทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น งานสำรวจ จัดเก็บข้อมูล งานให้บริการข้อมูล งานเทคโนโลยีสารสนเทศ งานก่อสร้าง งานประชาสัมพันธ์เผยแพร่ งานจัดทำมาตรฐาน งานทดสอบตรวจสอบ งานตรวจวิเคราะห์ งานให้บริการด้านสาธารณสุข งานจัดและให้บริการการศึกษา แต่ละส่วนราชการควรดำเนินการเพื่อให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นที่รับไปดำเนินการแทนตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 วางระบบ กำหนดระเบียบหรือออกกฎกระทรวง ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ ในการถ่ายโอนงาน ประกอบด้วย คุณสมบัติของผู้ประกอบการซึ่งจะรับงานจากรัฐไปปฏิบัติแทน และข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน อุปกรณ์เครื่องมือ ที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อม ข้อตกลงเกี่ยวกับระดับคุณภาพมาตรฐานและประสิทธิภาพในการให้บริการ ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าบริการที่จัดเก็บจากผู้รับบริการ และข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างเหมาให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นจัดทำบริการแทนรัฐ
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดมาตรการในการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นที่รับไปดำเนินการแทน โดยให้ดำเนินการตามข้อตกลงและมาตรฐานที่ได้ทำสัญญาไว้ หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงจะต้องมีบทลงโทษ เช่น ระงับใบอนุญาตในการประกอบการ หรือเพิกถอน
ขั้นตอนที่ 3 ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจให้ยื่นข้อเสนอเพื่อประมูลงานจากรัฐไปดำเนินการแทน และ
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยยกตัวอย่างส่วนราชการที่มีแผนปฏิบัติการถ่ายโอนงานที่น่าสนใจ อาทิ แผนปฏิบัติการถ่ายโอนงานด้านการตรวจสอบวิเคราะห์สินค้า กรมศุลกากร, แผนปฏิบัติการถ่ายโอนงานด้านการวิเคราะห์/ทดสอบผลิตภัณฑ์ปุ๋ย กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นต้น”
หลังจากนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และรับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากส่วนราชการต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ทุกส่วนราชการจะต้องนำส่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานภายในวันที่ 20 กันยายน 2556 นี้