ข่าวเด่น
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 สิงหาคม 2559 เรื่อง รายงานการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวก
ในการประกอบธุรกิจ (Doing Business)
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่อง รายงานการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business)
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/30468
ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวง
การคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สำหรับประเด็นที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรี มีดังนี้
1. รับทราบผลการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตามรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกทั้ง 10 ด้าน
2. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี และสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับข้อบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันธุรกิจ และกฎหมายล้มละลาย เพื่อนำไปสู่ การพัฒนากระบวนการปฏิบ้ติงานให้สอดคล้องกับรายงานผลของธนาคารโลก เรื่อง Doing Business และแนวปฏิบัติที่เป็นสากล รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย หากกฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรี
ที่มา
ตามที่ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงาน Doing Business 2016 ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 49 จากจำนวน 189 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ลดลงจากปีที่ผ่านๆ มา 3 อันดับ ทั้งนี้เป็นผลจากธนาคารโลกได้ปรับระเบียบวิธีการวัดใหม่ที่เรียกว่า Distance to Frontier: DTF และเพิ่มตัววัดเกี่ยวกับคุณภาพของกฏ ระเบียบ รวมทั้งประสิทธิภาพของกฎ ระเบียบในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การวิจัยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยการนำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Good practices) ของประเทศต่าง ๆ มาเป็นมาตรฐานในการสำรวจ
ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
1. การขับเคลื่อนการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการ
จากผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2016 ที่ประเทศไทยมีอันดับลดลง ได้นำไปสู่ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้มีการจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน และที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกยิ่งขึ้น และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการปรับปรุงบริการของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
2. ความก้าวหน้าการปรับปรุงบริการภาครัฐ
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ตามตัวชี้วัดในการสำรวจทั้ง 10 ด้าน ซึ่งจากการติดตามการดำเนินการปรับปรุงบริการของหน่วยงานต่าง ๆ
ปรากฏผล ดังนี้
1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business)
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปรับปรุงบริการ ดังนี้
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ร่วมกันปรับปรุงบริการเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยดำเนินการโครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e –Starting Business) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับบริการได้จุดเดียว (Single Point) ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และเลขที่บัญชีนายจ้างได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบฟอร์มให้สามารถใช้ร่วมกัน (Single Form) และใช้เอกสารประกอบชุดเดียวกัน (Single Document) นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการจองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานประกันสังคม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบ Biz Portal ซึ่งเป็นระบบกลางในการขอเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนติดต่อขอเริ่มต้นธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถกรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสารหลักฐานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องไปติดต่อที่หน่วยงานด้วยตนเอง ระบบ Biz Portal เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 และภายในสิ้นปี 2559 จะพัฒนาให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้ง ขยายผลเชื่อมโยงระบบด้านอื่นๆ ของการเริ่มต้นธุรกิจในด้านขออนุญาตก่อสร้าง และด้านการขอใช้ไฟฟ้า
ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศ เรื่อง การยื่นข้อบังคับการทำงานมีผลทันทีโดยไม่ต้องรอการพิจารณา และมีการเผยแพร่ให้ภาคเอกชนทราบเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยื่นข้อบังคับแรงงาน รวมทั้งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ
2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits)
กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการขออนุญาตก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จ ณ สำนักงานเขต (Bangkok service center) ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการยื่นเรื่องขออนุญาตได้ ณ จุดเดียว และได้มีการมอบอำนาจให้สำนักงานเขตสามารถพิจารณาอนุญาตตึกสูงตั้งแต่ 8 ชั้นลงมา ทำให้การพิจารณาขออนุญาตก่อสร้างทำได้รวดเร็วขึ้น
3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า (Getting Electricity)
การไฟฟ้านครหลวง ได้กำหนดมาตรฐานการให้บริการติดตั้งไฟฟ้าที่รับประกันกับผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การขอใช้ไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 15 (45) แอมแปร์ ทั้ง 1 เฟส 2 สาย และ 3 เฟส 4 สาย ต้องดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสิ้น ภายใน 3 วันทำการ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกระบวนการยื่นขอใช้ไฟฟ้าให้สามารถยื่นผ่านระบบ
e-Service ได้
4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property)
กรมที่ดิน ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลรูปแปลงที่ดินผ่านระบบออนไลน์ โดยการนำเข้าข้อมูลรูปแปลงที่ดินในระบบได้ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ (จะดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นปี 2559) มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดินกับเลข 13 หลักของเจ้าของที่ดิน ทำให้เจ้าของที่ดินหรือ ส่วนราชการสามารถดูข้อมูลได้ รวมทั้งได้พัฒนาระบบให้สามารถสืบค้นข้อมูลที่ดินได้ทางโทรศัพท์มือถือ
5) ด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ได้ออกประกาศ เรื่อง การจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เห็นชอบให้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จัดทำและให้บริการคะแนนเครดิตแก่สถาบันการเงินสมาชิกได้ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ทำให้สถาบันการเงินสามารถสืบค้นรายงานข้อมูลเครดิตและคะแนนเครดิต (Credit Scoring) เพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อได้
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เตรียมการรองรับภารกิจตามพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ได้แก่ การจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อรับจดทะเบียน แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ออกใบอนุญาตผู้บังคับหลักประกัน รวมทั้งให้บริการคลังข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันฯ และผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ การพัฒนาการจดทะเบียนหลักประกันทางออนไลน์ ผ่านทางเว็ปไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ให้หลักประกัน (ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) ผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้ระบบจดทะเบียนและกระบวนการบังคับหลักประกัน
6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน (Protecting Minority Investors)
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนฯ เพื่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่จะใช้สิทธิในการขอให้ นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเข้าทำ
การตรวจสอบธุรกรรมของบริษัท จากเดิมจะต้องกระทำโดยผู้ถือหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มาเป็นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
7) ด้านการชำระภาษี (Paying Taxes)
- กรมสรรพากร ได้พัฒนาระบบการยื่นแบบและขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ทางอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งได้มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20
- สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งเงินสมทบประกันสังคมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งเงินสมทบ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการด้วย
8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trading Across Border)
กรมศุลกากร ได้จัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองผ่านระบบ NSW ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดการเชื่อมต่อระบบของหน่วยงานทั้ง 36 แห่ง ให้สมบูรณ์ โดยการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2557 และออกมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น โครงการ Mobile NSW Application เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการศึกษาระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้าตามแนวทางขององค์การศุลกากรโลก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง และจะมีการบูรณาการข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ (G2G) เช่น โครงการเชื่อมโยงข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าระหว่างกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทยผ่านระบบ NSW การปฏิรูปกฎหมาย
ร่างประกาศกรมศุลกากร เรื่อง การใช้สิทธิยกเว้นหรือลดอากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยกรมศุลกากรและคณะกรรมการกฤษฎีกา
9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts)
- กรมบังคับคดีได้นำระบบ GIS มาใช้ในกระบวนการยึดและขายทรัพย์สิน ทำให้การปฏิบัติงานของกรมบังคับคดีมีความรวดเร็ว รวมทั้งได้ พัฒนาระบบ E-Filing ให้สามารถยื่นคำร้องขอชำระค่าใช้จ่ายทางเว็บไซต์ได้ เปิดระบบให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) และมีการจัดตั้ง One stop service ในการให้บริการการบังคับคดีแก่คู่ความ และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่างศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี พัฒนาระบบ E-Filing ในการส่งเอกสารระหว่างกรมบังคับคดีและคู่ความ พัฒนาระบบการขายทอดตลาดโดยเพิ่มช่องทางการเสนอราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Offering Auction) พัฒนาช่องทางพิเศษ
(fast-track) ในการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 100,000 บาท และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก โดยจัดทำบัญชีให้แล้วเสร็จภายในวันเดียวกันหรือวันทำการถัดไป พัฒนาแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ LED Property เพื่อค้นหารายละเอียดทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด
- ศาล มีการให้บริการ night court นอกเวลาราชการและวันเสาร์ ทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น รวมทั้ง ได้พัฒนาระบบจัดเก็บสำนวนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการนำร่องใช้งานใน 5 ศาล ทั้งศาลแพ่ง ศาลเยาวชน ศาลอาญา นอกจากนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้นำระบบรับคำฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Filing System) มาใช้ และมีระบบการรายงานความคืบหน้าของคดี โดยเจ้าของสำนวนคดีสามารถเข้าดูได้ มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 68 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 28) เรื่อง การยื่นและส่งคำคู่ความทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ขณะนี้ ศาลแพ่งอยู่ระหว่างจัดทำโปรแกรมเพื่อรองรับระบบรับคำฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบริหารจัดการคดี และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในห้องพิจารณาคดี (Court Room System) ผู้พิพากษาและทนายความสามารถสืบค้นกฎหมาย ข้อบังคับ และคำพิพากษาของศาลได้จากเว็บไซต์ศาลฎีกา สำนักประธานศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม มีระบบการแจ้งเตือนจากศาลไปยังทนายความทาง sms และอีเมล์ มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้พิพากษาและทนายความสามารถตรวจสอบสถานะคดีและติดตามคำสั่งศาลได้
10) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย (Resolving Insolvency)
กรมบังคับคดีได้จัดตั้งศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้าให้บริการเกี่ยวกับคดีล้มละลาย และมีการแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2558
(ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 สิงหาคม 2558) เพื่อปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายให้มีขั้นตอนที่สั้นขึ้น มีความชัดเจน อำนวยความสะดวก และทันสมัยมากขึ้น
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
และหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร.
นฤมล & วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ