ข่าวเด่น
การประชุมชี้แจงผู้ตรวจประเมินตามแนวทางตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงผู้ตรวจประเมินตามแนวทางตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ณ ห้องพัชราวดี โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นประธานเปิดงาน ได้กล่าวต่อผู้ที่เข้าร่วมประชุมว่า “สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบราชการไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบราชการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันการขับเคลื่อนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีการมอบรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ในระดับจังหวัด เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการและเชิดชูผลงานของจังหวัดที่เป็นต้นแบบที่ดีในด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และในปีนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พัฒนาและจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ทั้งในส่วนของส่วนราชการและจังหวัด จากเดิมที่ได้ดำเนินการในระดับจังหวัดเท่านั้น ซึ่งการประชุมในวันนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการของส่วนราชการ และจังหวัด ให้แก่ผู้ตรวจประเมิน เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจประเมินส่วนราชการและจังหวัดที่สมัครรับรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี พ.ศ. 2556”
โดยการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรี สิโรรส คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติบรรยายหลักการและการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทำแบบประเมินสั้นๆ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเข้าใจเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้น ได้กล่าวถึงความหมายของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยได้ให้คำจำกัดความที่น่าสนใจว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนคือ กิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาร่วมในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ร่วมคิด, ร่วมตัดสินใจ, ร่วมดำเนินการ, ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมประเมินผล โดยการออกไปสนทนาพูดคุยกับประชาชน เป็นสื่อกลางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตัวผู้ตัดสินใจ และรับความคิดเห็น พร้อมมุมมองต่างๆ และทำให้เห็นและเชื่อได้ว่า มุมมองและสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องและแสดงออก ได้ถูกนำเข้ามาพิจารณาโดยคณะผู้มีอำนาจตัดสินใจ” ซึ่งการพัฒนาระบบราชการในไทยนั้น ได้มีความพยายามที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) อันเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดย ดร.พัชรี ได้เน้นย้ำในหลัก 4S ซึ่งเป็นหลักการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดีและประสบความสำเร็จ ได้แก่ Start early การเริ่มต้นเร็ว Stakeholders ความครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง Sincererity ความจริงใจ และ Suitability วิธีการที่เหมาะสม ซึ่งในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ประกอบไปด้วยระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน เทคนิคการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆและการออกแบบกระบวนการที่เหมาะสม โดยได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การวางแผนการมีส่วนร่วมของรัฐ Kerala ประเทศอินเดีย ,การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของ Alegra ประเทศบราซิล ,โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลนครพิษณุโลก,การพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น
หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล ได้ชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการของส่วนราชการและจังหวัด โดยได้มีการอภิปราย และตอบข้อซักถามต่างๆ ให้แก่ผู้ตรวจประเมิน ซึ่งจะนำข้อมูลและความรู้จากการประชุมในครั้งนี้ ไปดำเนินการตรวจประเมินฯ ต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ