Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้  

ข่าวเด่น


สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
วันที่ 5 เมษายน 2559 เรื่อง การดำเนินการตามมาตรการทบทวนภารกิจของส่วนราชการ
:  การถ่ายโอนภารกิจภาครัฐ

          การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ การดำเนินการตามมาตรการทบทวนภารกิจของส่วนราชการ : การถ่ายโอนภารกิจภาครัฐ

          ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/12718
ลงวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

           คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ลงมติว่า

          1. รับทราบผลการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับภารกิจที่จะถ่ายโอนและภารกิจที่ไม่เห็นควรถ่ายโอนไปพิจารณาดำเนินการ

          2. เห็นชอบในหลักการแนวทางการติดตามผลการดำเนินการถ่ายโอนงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะและมาตรการการขับเคลื่อนการถ่ายโอนงาน ตามที่สำนักงาน
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งให้รับฟังข้อสังเกตจากภาคส่วนต่างๆ และศึกษาจากกรณีตัวอย่างของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้สำหรับประเทศไทยด้วย

           สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรี 

           ที่มา

          คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของส่วนราชการตามมาตรา 33 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของส่วนราชการต่างๆ ให้
ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน กำหนดการถ่ายโอนงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้

          ระยะที่ 1 ถ่ายโอนงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 37 งาน

          ระยะที่ 2 ถ่ายโอนงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน อีก 56 งาน

          ระยะที่ 3 ถ่ายโอนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก ก.พ.ร. แล้ว จำนวน 48 งาน

          คณะรัฐมนตรี (คสช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูประเทศไทยที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที
ข้อ 2.2 การปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 2.2.5 ปรับปรุงบทบาทภารกิจและปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนให้ภาคเอกชน

          ทั้งนี้ ประธาน ก.พ.ร. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการด้านสังคม (นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน) และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการด้านเศรษฐกิจ (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธาน) เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาภารกิจของส่วนราชการที่สมควรถ่ายโอน ให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและติดตามประเมินผลการถ่ายโอนงานทั้ง 3 ระยะ และนำเสนอ ก.พ.ร. แล้ว

          สรุปผลการดำเนินงาน

          ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 58 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการดำเนินงานตามมาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของส่วนราชการ : การถ่ายโอนภารกิจภาครัฐ ดังมีรายละเอียดดังนี้

          1. ผลการดำเนินงานการถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการในกลุ่มกระทรวงด้านสังคม และส่วนราชการในกลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ระยะ จำนวนทั้งสิ้น 141 งาน มีดังนี้

               1) งานที่ดำเนินการถ่ายโอนงานแล้วเสร็จ 81 งาน คิดเป็น 57.45%

               2) งานที่อยู่ระหว่างดำเนินการถ่ายโอนงาน 28 งาน คิดเป็น 19.85%

               3) งานที่ไม่เห็นควรถ่ายโอนงาน จำนวน 32 งาน คิดเป็น 22.70%

          2. แนวทางการติดตามผลการดำเนินการถ่ายโอนงาน

               1) จัดทำหนังสือแจ้งมติการถ่ายโอนงานที่ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามมติ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ เพื่อให้ส่วนราชการรับทราบและจัดทำแผนการถ่ายโอนงาน (Roadmap) ในความรับผิดชอบ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. หรือผู้ที่ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ มอบหมายให้คำปรึกษาหรือร่วมจัดทำแผนการถ่ายโอนงานดังกล่าวเพื่อให้แผนการถ่ายโอนงานมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

               2) ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการที่มีงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการถ่ายโอนให้เห็นความสำคัญของการถ่ายโอนงานและช่วยขับเคลื่อนผลักดันการถ่ายโอนงานตามแผนฯ ของส่วนราชการให้สำเร็จโดยเร็ว

               3) ให้ส่วนราชการแต่งตั้งคณะทำงาน/มอบหมายผู้รับผิดชอบการถ่ายโอนงาน เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามการถ่ายโอนงานตามแผนการถ่ายโอนฯ ที่กำหนดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน และควรให้มีผู้แทนของสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

               4) ส่วนราชการอาจจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโอนภารกิจเพื่อจะได้นำมาปรับปรุงการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวให้เหมาะสม

               5) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานผลการติดตามการถ่ายโอนงานหรือเสนอผลการถ่ายโอนงานให้ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม เช่น ทุก 3 เดือน เพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนงาน ซึ่งจะได้รายงานต่อ ก.พ.ร. ต่อไป

               ทั้งนี้ เพื่อให้การถ่ายโอนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ได้มีการดำเนินงานให้แล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และตามระยะเวลาที่กำหนด

          3. ข้อเสนอแนะ/มาตรการขับเคลื่อนการถ่ายโอนงาน

               1) ส่วนราชการทบทวนบทบาทภารกิจและเสนองานที่ต้องถ่ายโอนเพิ่มเติมจากมติ ก.พ.ร. โดยเฉพาะงานในลักษณะเป็นผู้ปฏิบัติการ (Operator) ทั้งในงานภารกิจหลักและงานในภารกิจรอง (ผู้รับผิดชอบ : ส่วนราชการ และสำนักงาน ก.พ.ร.)

               2) เมื่อส่วนราชการ (ที่มีงานที่สามารถถ่ายโอนได้) ขอปรับปรุงโครงสร้าง ต้องพิจารณาและเสนอการถ่ายโอนงานควบคู่ไปด้วย ว่ามีงานใดที่สามารถยุบเลิก ถ่ายโอน หรือจ้างเหมาให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทน ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถดำเนินการตามภารกิจหลักได้อย่างมีประสทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น (ผู้รับผิดชอบ: ส่วนราชการ และสำนักงาน ก.พ.ร.)

               3) ให้ส่วนราชการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการถ่ายโอนหรือจ้างเหมาให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทนภาครัฐ (ผู้รับผิดชอบ: ส่วนราชการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)

               4) ให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณอุดหนุนในระยะแรกสำหรับผู้รับบริการเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร ซึ่งในอดีตได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ผู้รับผิดชอบ : ส่วนราชการ และสำนักงบประมาณ)

               5) ไม่สนับสนุนอัตรากำลัง และงบประมาณเพิ่มเติมแก่ส่วนราชการที่ได้ถ่ายโอนงานให้ภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทนแล้ว (ผู้รับผิดชอบ : ส่วนราชการ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ) 

               6) ให้เกลี่ย/ตัดโอนอัตรากำลัง และพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อปฏิบัติงานอื่นแทนงานที่ถูกยุบเลิก หรือถ่ายโอนไป (ผู้รับผิดชอบ : ส่วนราชการ และสำนักงาน ก.พ)

                7) เมื่อส่วนราชการดำเนินการถ่ายโอนงานแล้ว ส่วนราชการต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้ง สมรรถนะของบุคลากรภายในหน่วยงานให้เหมาะสมกับภารกิจที่มีการปรับเปลี่ยนไป (ผู้รับผิดชอบ : ส่วนราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ.)

               ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ดังกล่าว เห็นควรให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ/มาตรการฯ ที่กำหนดไว้ข้างต้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ นอกจากนั้น เห็นควรให้ส่วนราชการดำเนินการถ่ายโอนงานตามมติ ก.พ.ร. ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามแผนถ่ายโอนงาน (Roadmap) ของแต่ละส่วนราชการด้วย



ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ภัทรพร (สลธ.) /รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ

 

 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th