ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนา เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 24
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนา “เวทีปัญญา สัมมนาวาที” ครั้งที่ 24 ในประเด็นเรื่อง “สรรค์สร้างภาครัฐไทยก้าวไกลสู่สากล : รางวัล United Nations Public Service Awards” โดยได้รับเกียรติจากนายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมสัมมนา ณ ห้องราชาบอลรูม โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ United Nations Public Service Awards ในปี ค.ศ. 2012 และ 2013 ซึ่งประกอบด้วย นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักชลประทานที่ 2 นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ นางอัมพร จันทวิบูลย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กรมสุขภาพจิต มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ เทคนิค รูปแบบ และวิธีการ ในการเสนอขอรับการประเมินเพื่อรับรางวัลดังกล่าว โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิพุธ อ่องสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย สำนักงาน ก.พ.ร. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่จะนำไปพัฒนาปรับปรุงงานของตนให้มีประสิทธิภาพและเตรียมเขียนคำขอรับการประเมินรางวัล United Nations Public Service Awards จากองค์การสหประชาชาติในปีถัดไปได้อย่างถูกต้อง
ในช่วงแรก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิพุธ อ่องสกุล ผู้ดำเนินการอภิปราย กล่าวถึงรางวัล United Nations Public Service Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ดำเนินการด้านการให้บริการสาธารณะด้วยความเป็นมืออาชีพ โดยเปิดให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อองค์การและหน่วยงานภาครัฐสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) เป็นต้นมา และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการที่มีผลงานการยกระดับพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน ส่งผลงานเพื่อสมัครขอรับรางวัลดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) จนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐของไทยสู่เวทีโลก ซึ่งปรากฏว่ามีหน่วยงานได้รับรางวัลดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2012 กรมชลประทาน ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรางวัลการส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายผ่านกลไกด้านนวัตกรรม จากผลงานการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ และปี ค.ศ.2013 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรางวัลการพัฒนาการให้บริการประชาชน จากผลงาน “Child First-Work Together (CF-WT)” ตามลำดับ
หลังจากนั้น นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักชลประทานที่ 2 ได้นำเสนอตัวอย่างการจัดทำรายงานเพื่อเสนอขอรับการประเมินว่า กรมชลประทานได้ส่งผลงานการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ ซึ่งจากสภาพปัญหาของโครงการฯ พบว่า การขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในพื้นที่มากมาย อาทิ ความขัดแย้งของประชาชนในการแย่งชิงน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การประชุมเรียกร้องให้ภาครัฐจัดหาน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน เกษตรกรทำลายอาคารชลประทาน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเนื่องจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก อีกทั้งเกิดความยากจนในพื้นที่ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้เกิดปัญหาทางสังคม จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดแนวความคิดของนวัตกรรมการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ จนเกิดเป็นกระบวนการ 3 ประสานขึ้น ประกอบด้วย ประสานที่ 1 การสนับสนุนด้านงบประมาณและจัดหาน้ำ โดยการกำหนดบทบาทหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ประสานที่ 2 ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ประสานความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน, อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ, เกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ประสานที่ 3 การควบคุม ดูแล และการปฏิบัติตามข้อตกลง โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบดูแล ทั้งนี้ จากการดำเนินงานภายใต้กระบวนงาน 3 ประสาน ทำให้ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐได้รับประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การสร้างโอกาสในการเพาะปลูกจาก 32,500 ไร่ ในปี 2536 เป็น 92,000 ไร่ในปี 2553 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 154 ล้านบาท เป็น 553 ล้านบาท การบริการดีขึ้นในขณะที่อัตรากำลังลดลง โดยในปี 2547 มีอัตรากำลัง 282 คน ปัจจุบันปี 2554 มีอัตรากำลังเพียง 166 คน สามารถประหยัดงบประมาณค่าเงินเดือนได้ปีละ 18.6 ล้านบาท ลดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ชลประทาน เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยรักษาอาชีพเกษตรกรและพื้นที่ชลประทาน เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ หนึ่งในความมุ่งมั่นที่กรมชลประทานมอบบริการที่ดีให้กับประชาชน ส่งผลให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ (UN) ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สาขาการสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ประจำปี พ.ศ. 2555
นอกจากนี้ นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ยังได้แนะนำเทคนิคการเขียนรายงานเพื่อส่งเข้าประกวดรางวัล United Nations Public Service Awards ว่า ในเบื้องต้นให้หน่วยงานพิจารณาผลงานว่าสามารถจะเสนอขอรับรางวัลจากหมวดใด (Category) ได้บ้าง แล้วจึงศึกษาเกณฑ์การประเมินและรายละเอียดของแต่ละหมวด ถ้าผลงานสอดคล้องกับเกณฑ์หมวดใดมากที่สุด ให้เสนอขอรับรางวัลจากหมวดนั้น จากนั้นให้ศึกษารายละเอียดข้อคำถามในรอบที่ 1 ซึ่งมีจำนวน 10 ข้อ ตีประเด็นข้อคำถาม และดึงมาเป็นตัวตั้งในการตอบ นำข้อมูลของผลงานที่จะเสนอขอรับรางวัลมาสรุปตอบในแต่ละข้อคำถาม โดยให้เน้นถึงภาพการทำงานตามข้อคำถามนั้นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเนื้อหาทุกข้อต้องร้อยเรียง สอดรับและเชื่อมโยงกัน ข้อความที่เป็นภาษาไทยต้องกระชับ มองเห็นกระบวนการการทำงาน ตามข้อคำถาม ทั้งนี้ ข้อจำกัดการตอบคำถามในแต่ละข้อคำถามเป็นภาษาอังกฤษจะไม่เกิน 500 คำ ขณะเดียวกันวีดิโอนำเสนอผลงานก็มีความสำคัญควรนำเสนอให้สั้น กระชับ ได้ใจความและไม่ควรเกิน 10 นาที
ต่อจากนั้น นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ ได้พูดถึงความโดดเด่นของผลงาน “Child First – Work Together (CF-WT)” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2013 ในประเภทรางวัล การพัฒนาการให้บริการประชาชน จากองค์การสหประชาชาติว่า สถาบันพัฒนาการเด็ก ราชนครินทร์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าวัยแล้ว ขยายการดูแลครอบคลุมไปถึงเด็กทุกกลุ่ม มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัย มีคุณภาพและต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาเครื่องมือ พัฒนาคน พัฒนาช่องทางการสื่อสาร พัฒนาการให้บริการ และพัฒนาเครือข่ายในการประเมินที่เป็นการสร้างความร่วมมือทั้งบุคลากร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ การบริหารจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เน้นการให้บริการเชิงรุก คำนึงถึงธรรมชาติของเด็ก และใช้เครื่องมือที่มีค่ามาตรฐานในเด็กไทย
พร้อมกันนี้ นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ได้สรุปแนวทางการเขียนโครงการ CF-WT ว่า ในรอบแรกต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจในงานของตนเองก่อน แล้วจึงทำความเข้าใจกับเกณฑ์ประเมินและข้อคำถาม ลองเขียนเค้าโครงคำตอบแต่ละคำถามและหาข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบ ทิ้งระยะห่างและลองอ่านสิ่งที่เขียน พร้อมทั้งแก้ไขปรับปรุง ตรวจสอบความเข้าใจโดยให้คนนอกอ่านและแปลรวมทั้งปรับแก้ ต่อมาในรอบที่ 2 ให้ทำความเข้าใจกับเกณฑ์ประเมินและดูแนวการเขียนของผู้ได้รับรางวัล ลองเขียนเค้าโครงสรุปรายงาน โดยคิดเชิงระบบและบูรณาการพร้อมกับหาข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่หน่วยงานทำ พร้อมทั้งรวบรวมบทความ การนำเสนอผลงาน จดหมายจากผู้ใช้ประโยชน์ รวบรวมข่าว สื่อโทรทัศน์ จาก website โดยเชื่อมโยงกับสรุปรายงานและจัดทำเป็นวิดีโอนำเสนอต่อไป
นางอัมพร จันทวิบูลย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในครั้งนี้ว่า เด็กในโครงการนำร่องปี พ.ศ. 2553 – 2554 ที่ได้รับการรักษาจากงานบริการผู้ป่วยในสถาบันฯ ร้อยละ 75, 84, 85 และ 87 มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในปี 2554 มีการฝึกผู้ปกครองในการคัดกรอง ประเมิน และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 31,153 ราย พบว่า ผู้ปกครองสามารถประเมินเด็กได้เองที่บ้าน ร้อยละ 83.13 และในปี 2554-2555 มีการอบรมพยาบาลในการคัดกรอง ประเมิน และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จำนวน 3,447 คน โดยมีการประเมินผลการใช้คู่มือด้วย อย่างไรก็ตาม ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่รางวัลที่ได้รับ แต่อยู่ที่ทำให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญและนำไปใช้ในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป
ประโยชน์จากการจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของวิทยากรที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำข้อเสนอขอรับการประเมินเพื่อรับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติได้ในปีต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว&ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ