การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ
การประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 111
ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ด้วยรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้เสนอเรื่อง การประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ในคราว
ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการประเมินข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง เลขาธิการ ก.พ. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน แต่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อนำมาประกอบการประเมินสำหรับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการต่อไป ทั้งนี้ จะมีการจัดทำคู่มือประกอบการประเมินเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติต่อไป ซึ่ง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ และรับทราบตามที่ชี้แจงเพิ่มเติม สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รายงานว่า ด้วยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 5/2559 เรื่องมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดให้มีการประเมินส่วนราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้การประเมินยึดหลักประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจำหรืองานตามหน้าที่ปกติ (Function Based) งานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based) และงานตามพื้นที่หรืองานที่ต้องบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based) และให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันจัดทำแบบประเมินข้าราชการและแบบประเมินส่วนราชการ
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการบำนาญและข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง เพื่อจัดทำแบบประเมินฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ และแนวปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมี
รายละเอียด ดังนี้
1. แบบประเมินข้าราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพในการเป็นนักบริหารของผู้รับการประเมิน โดยผู้รับการประเมิน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง และผู้ประเมินมี 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ 3) เลขาธิการ ก.พ.
การประเมินข้าราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ผู้รับการประเมินจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
1.1 ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นฐาน งานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Function Based)
1.2 ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิบัติรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
1.3 ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
1.4 ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามที่ ก.พ. กำหนด (Competency Based)
1.5 ศักยภาพในการเป็นนักบริหารเพื่อการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และแผนหลักในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ (Potential Based)
ฝ่ายบริหารหรือผู้บังคับบัญชาสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการพัฒนา ปรับปรุงหรือส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับการประเมินมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาตรฐาน หรือสูงกว่าระดับมาตรฐาน ตลอดจนสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการระดับบริหารสูง
คลิก เพื่อดูแบบประเมินข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง
2. แบบประเมินส่วนราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานของส่วนราชการใน
การขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาและการอำนวยการความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพของส่วนราชการในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยส่วนราชการที่รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม และผู้ประเมินคือ 1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ 3) เลขาธิการ ก.พ.ร.
การประเมินส่วนราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ส่วนราชการจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
2.1 ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นฐานงานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎ นโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Functional Based)
2.2 ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์ แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
2.3 ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
2.4 ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบงาน งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และการให้บริการประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ (Innovation Based)
2.5 ศักยภาพในการเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล (Potential Based) โดยให้ผู้ประเมินนำผลการประเมินส่วนราชการนั้น ซึ่งประเมินโดยองค์กรภายในและภายนอกประเทศที่ได้รับความเชื่อถือมาประกอบการประเมินด้วย
ผลการประเมินส่วนราชการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการของส่วนราชการให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และนำไปสู่ความเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานอยู่ในระดับเหนือมาตรฐานสากลในอนาคต
คลิก เพื่อดูแบบประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ