เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีมติรับทราบคำสั่งฯ ดังกล่าวแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่าให้นำคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวใช้ประกอบการปรับย้าย และแต่งตั้งของทุกส่วนราชการ ในเดือนเมษายน 2559 สำหรับข้าราชการทหารและข้าราชการตำรวจ ให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายของกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนการดำเนินการของสำนักพระราชวังให้ดำเนินการตามธรรมเนียมปฏิบัติ
สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว มีดังนี้
1. การประเมินส่วนราชการ และข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ให้ยึดหลักการประเมินดังนี้
(1) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจำหรืองานตามหน้าที่ปกติ ได้แก่ งานตามกฎหมาย กฎ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล
(2) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษแก่บางหน่วยงานหรือข้าราชการบางตำแหน่งหน้าที่ เช่น ภารกิจในการปฏิรูป การสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาสำคัญเฉพาะเรื่อง
(3) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามพื้นที่หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน เช่น งานที่ต้องประสานและร่วมมือระหว่างจังหวัดระหว่างกรม หรือกระทรวง และงานตามนโยบายประชารัฐซึ่งภาครัฐพึงทำงานร่วมกับท้องถิ่น ภาคประชาชน หรือองค์กรสาธารณประโยชน์
2. หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน
(1) ผู้รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง
(2) ผู้ประเมิน ให้มีผู้ทำหน้าที่ประเมินส่วนราชการหรือข้าราชการ ประกอบด้วย
2.1 นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายหรือมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการ และกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการในภูมิภาค
2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
2.3 เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในกรณีประเมินส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในกรณีประเมินข้าราชการ
การประเมินสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและเลขาธิการคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน ให้ใช้ผลการประเมินของผู้ประเมินตาม 2.1 และ 2.2
ให้ผู้ประเมินลงนามรับรองผลการประเมินด้วย
(3) แบบประเมิน ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนร่วมกันจัดทำแบบประเมินส่วนราชการและแบบประเมินข้าราชการผู้รับการประเมินตามหลักการประเมินในข้อ 1 โดยให้มีการประเมินความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ ความวิริยะอุตสาหะ การอุทิศเวลาแก่ราชการ ประสิทธิภาพในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ความคิดริเริ่ม ความซื่อสัตย์สุจริตการมีธรรมาภิบาล และความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการประกอบกัน
(4) แนวทางการประเมิน ในการประเมิน หากมีผลการประเมินจากหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจากองค์กรภายนอกระบบราชการที่มีการประเมินประเทศในภาพรวมและเป็นที่ยอมรับทั่วไป และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบส่วนราชการใด ให้ผู้ประเมินนำมาพิจารณาประกอบด้วย
(5) ผลการประเมิน ให้รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรายงานผลการประเมินตามคำสั่งนี้ต่อนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายนและเดือนกันยายน เพื่อทราบ หรือประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย หรือพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษตามกฎหมายและระเบียบราชการในระหว่างเวลาดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีอาจเสนอรายงาน ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนได้
ทั้งนี้ ให้การดำเนินการทุกระดับมีความเป็นธรรม มิให้เกิดการกลั่นแกล้ง ในกรณีเมื่อมีการประเมินแล้วพบว่าข้าราชการผู้ใดทำผิดวินัยหรือกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. การประเมินหน่วยงานและข้าราชการอื่นนอกเหนือจากส่วนราชการระดับกรมและข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูงให้ดำเนินการตามมาตรการในคำสั่งนี้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติปกติ ดังนี้
(1) การประเมินข้าราชการพลเรือนระดับต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้มีการประเมิน
(2) การประเมินหน่วยงานของรัฐในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการประเมิน
(3) การประเมินข้าราชการทหารและข้าราชการตำรวจ ให้กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี จัดให้มีการประเมิน
นอกจากนี้ ในคำสั่งฯ ดังกล่าวยังมีการกำหนดเกี่ยวกับการให้มีกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จำนวน 50 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการระดับสูง หรือประเภทบริหารระดับต้น หรือข้าราชการอื่นที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนแต่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าโดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้โอนหรือย้ายมา หรือเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในระดับดังกล่าวโดยขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ไม่ว่าข้าราชการผู้นั้นจะมีความผิดหรืออยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม อีกด้วย
คลิก เพื่อดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ
ข้อมูลจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ