Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้  

ข่าวเด่น


พระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559

         พระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 12 ก ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

         ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป นั้น 

         บัดนี้ พระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 12 ก ลง
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

         สาระสำคัญของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 มีดังนี้

          1. คำนิยาม 
              แก้ไขนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของแต่ละองค์การมหาชน เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและการดำเนินการของคณะกรรมการในแต่ละองค์การมหาชน

          2. อำนาจของคณะรัฐมนตรี
              - กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากิจการอันเป็นบริการสาธารณะใดที่สมควรจะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน โดยข้อเสนอแนะของ
คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.)
              - เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดระเบียบแบบแผนในกรณีที่มีปัญหาการซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งในการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นของรัฐตามกฎหมาย โดย กพม. เป็นผู้เสนอ 

          3. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) 
              กำหนดให้มี คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ประกอบด้วย
             (1) ประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นประธาน
             (2) กรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 
             (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 7 คน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารองค์การมหาชน อย่างน้อย 2 คน 
             ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
             ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้รับผิดชอบในการธุรการและงานวิชาการของ กพม.

          อำนาจหน้าที่ของ กพม.
             (1) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกองค์การมหาชน
             (2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน 
             (3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการในคณะกรรมการ และผู้อำนวยการ
             (4) เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือนุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่น และการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตามมาตรา 18 ต่อคณะรัฐมนตรี
             (5) เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการตรวจสอบ และอนุกรรมการขององค์การมหาชนตามมาตรา 26 รวมทั้งอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามมาตรา 34 ต่อคณะรัฐมนตรี
             (6) กลั่นกรองการโอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐให้แก่องค์การมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 9 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
             (7) เสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและบุคลากรขององค์การมหาชนภายหลังการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี
             (8) เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา
             (9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย
            (10) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
            (11) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

           4. หลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการ ในองค์การมหาชน 
               - กำหนดให้คณะกรรมการในแต่ละองค์การมหาชนมีจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง แต่ต้องไม่เกิน 11 คน โดยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ  พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
               - กำหนดให้การดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่า 3 แห่งไม่ได้ (ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วย) โดยไม่รวมถึงการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่ได้รับการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทน
               - ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในแต่ละองค์การมหาชน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน

            5. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้อำนวยการในองค์การมหาชน 
                - กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้อำนวยการขององค์การมหาชนไว้ในกฎหมายแม่บท เพื่อให้มีลักษณะสอดคล้องและเหมือนกัน 
                - กำหนดให้การพ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง
                - แก้ไขอำนาจบังคับบัญชาของผู้อำนวยการ โดยให้มีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง เว้นตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในให้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและ คณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

            6. การเร่งรัดให้องค์การมหาชนดำเนินการเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน
                กำหนดให้องค์การมหาชนทุกแห่งดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไปยังคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการแทนและเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

            คลิกดาวน์โหลดพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559




วสุนธรา (สลธ.) /รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ

 

 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th