ข่าวเด่น
มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อ
การปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น)
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น)
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/44402 ลง
วันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 รับทราบผลการพิจารณาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.ร. ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป และแจ้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อดำเนิน
การในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรี มีดังนี้
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น) พิจารณาร่วมกับส่วนราชการและคณะกรรมการต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจัดประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปฯ ตามมติ
คณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ซึ่งภายหลังจากการประชุมหารือฯ ได้แจ้งให้ส่วนราชการตรวจสอบผลการประชุมหารือฯ และพิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประมวลสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดสังเขป ดังนี้
1. สาระสำคัญ วิธีการ ระยะเวลา และหน่วยงานรับผิดชอบหลักตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปฯ การกำหนดสาระสำคัญ วิธีการ และหน่วยงานรับผิดชอบหลักตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปฯ มีความเหมาะสมครบถ้วนต่อการปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ควรมีการปรับช่วงระยะเวลาดำเนินงานให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทที่จะต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่ จำแนกบทบาทภารกิจ และพัฒนากลไกที่เอื้อต่อการบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการรวมรวม แก้ไข และยกร่างกฎหมาย
2. ความเห็นและผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) การกำหนดบทบาทภารกิจ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมชัดเจน ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ เห็นด้วยกับการทบทวนภารกิจภาครัฐที่แท้จริงให้ชัดเจน แต่ต้องพิจารณาระดับของงานในภารกิจนั้น ๆ ว่า ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคควรรับผิดชอบงานลักษณะใดและระดับใด เนื่องจากยังคงมีบางภารกิจที่จำเป็นต้องร่วมกันดำเนินการอยู่ของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
2) การพัฒนากลไกเครื่องมือ ระบบการบริหารงาน และการกระจายอำนาจ ซึ่งปัจจุบันมีกลไกการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับแล้ว หากจะพัฒนาปรับปรุงการบูรณาการต่าง ๆ ก็อาจแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก่อน แต่หากมีข้อบกพร่องหรือปัญหาต่าง ๆ อยู่ จึงค่อยพิจารณาถึงการยกร่างกฎหมายใหม่
3) การพัฒนาระบบงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องแล้ว ได้แก่ การปรับปรุงเทคนิคและวิธีการจัดทำงบประมาณ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแต่งตั้งคณะกรรมการและจัดทำกฎเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงาน ก.พ.ร.
วสุนธรา & นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ