ข่าวเด่น
ข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางในการปฏิบัติงาน การติดตามและเร่งรัดการดำเนินการ และ การประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางในการปฏิบัติงาน การติดตามและเร่งรัดการดำเนินการ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่
นร 0506/ว 403 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติเกี่ยวกับ เรื่อง แนวทางในการปฏิบัติงาน การติดตามและเร่งรัดการดำเนินการ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ผ่านกลไก “ประชารัฐ”
ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ดำเนินการบนหลักการการทำงานเชิงรุก โดยให้ผู้ปฏิบัติทุกระดับในสังกัดเข้าใจปัญหาที่แท้จริงและลงพื้นที่เป็นระยะเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการดำเนินการของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งต้องติดตาม ประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าในการทำงานเป็นระยะ เช่น การแก้ไขปัญหาโรงงานขยะที่ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหา
2. การบูรณาการการทำงานทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ผ่านกลไก “ประชารัฐ”
ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ดำเนินการบนหลักการความมีเอกภาพ โดยการดำเนินการหรือ
การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะต้องมีการประสานงานเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีความชัดเจนเพื่อให้การดำเนินการ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และ
การบังคับใช้กฎหมายต้องมีการบูรณาการ มิใช่ต่างคนต่างถือกฎหมายของตนเองเป็นหลัก เช่น
(1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ การตรวจสอบรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม
(2) การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียสู่ชุมชนและแหล่งน้ำและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การเร่งรัดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ให้กระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน
ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐโดยประเด็นสำคัญที่ควรใช้ประกอบการประเมิน
เช่น การมีวิสัยทัศน์ การทำงานเชิงรุก ประสิทธิภาพทั้งงานตามพันธกิจและการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็น
ความเดือดร้อนของประชาชน ความพึงพอใจของประชาชน ผลงานที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อส่วนรวมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งความประพฤติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีภายในเดือนธันวาคม 2558 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประกอบการประเมินผลในเดือนเมษายน 2559
อนี่ง กลไก “ประชารัฐ” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.จังหวัด) (คสช.) ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ นายอำเภอ การปกครองท้องถิ่น องค์กรส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้แทนพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และประชาชน
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วสุนธรา & นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ