ข่าวเด่น
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ เพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ)
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ)
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ที่ นร 0503/40714
ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ตามที่ได้เสนอรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ) ไปเพื่อดำเนินการ นั้น
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558
1. รับทราบรายงานผลการพิจารณาฯ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้
2.1 แจ้งผลการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป
2.2 แจ้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรี มีดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารแห่งรัฐ และได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาศึกษาแนวทางและ
ความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นั้น
สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอการยกร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูป และการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 17 ฉบับ แล้วมีความเห็นดังนี้
1. ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติมีสาระสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การปฏิรูปการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2) ให้มีการแข่งขันเพื่อ
การพัฒนาคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ และ 3) ให้มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาระบบราชการขึ้น โดยมีองค์กรซึ่งทำหน้าที่แนะนำในเรื่องการพัฒนาและการบริหารจัดการให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้น เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐโดยรวม และจะทำให้ระบบ
การประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพของประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะมีงบประมาณในการสนับสนุนการพัฒนาและนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพตามความจำเป็นเร่งด่วน
2. ข้อเสนอให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างหรือกลไกการบริหารงานหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดนั้น สมควรกำหนดให้คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ในลักษณะเป็นการเฉพาะกิจและคณะกรรมการดังกล่าวสิ้นอายุลงเมื่อจบภารกิจตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยการกำกับดูแลหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยังคงอยู่ภายใต้ระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การพัฒนาระบบราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาครวมถึงองค์การมหาชน ซึ่งเป็นภารกิจของสำนักงาน ก.พ.ร. ภายใต้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ส่วนในเรื่องการกำกับดูแลการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นภารกิจของสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) หรือการดูแล
เรื่องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงการคลังภายใต้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ส.ค.ร.) เห็นว่าหากจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงหรือบูรณาการใดๆ ตามข้อเสนอข้างต้น ก็สมควรให้หน่วยงานเหล่านี้ได้พิจารณาถึงปัญหา อุปสรรค กลไกทางกฎหมาย มาตรการทางบริหาร หรือ
การบริหารจัดการในด้านต่างๆ รวมทั้งขอบเขตความรับผิดชอบในภารกิจที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
3. เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับซึ่งอาจมีผลต่อการจัดโครงสร้างและระบบของรัฐ รวมถึงการกำหนดภารกิจในเรื่องต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เช่น การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานหน่วยงานภาครัฐหรือการเสนอร่างกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงสมควรรอให้เกิดความชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
4. อย่างไรก็ดีรัฐบาลสามารถดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวได้ทันที โดยในระยะแรกอาจใช้วิธีในทางบริหาร โดยอาจมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติดังกล่าว รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอาจกำหนดให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอในบางเรื่องได้ทันทีหากการดำเนินการนั้นมีกฎหมายรองรับอยู่แล้วหรือสามารถใช้มาตรการในทางบริหารเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็น
การทดลองและประเมินผล ก่อนจะนำไปสู่การเสนอร่างกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดี ควรจะมีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันและเร่งรัดให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการตามภารกิจให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด
วสุนธรา & นฤมล (สลธ.) / รายงาน
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร.
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ