ข่าวเด่น
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
วันที่ 30 กันยายน 2558 เรื่อง ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2558 ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่อง ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/34737 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอเรื่อง ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ลงมติว่า
1. รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2.
ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางในการเพิ่มเติมตัวชี้วัดเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การบูรณาการ หรือประสานงานเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของผู้นำหน่วยงานและข้าราชการในพื้นที่ให้ชัดเจน รวมทั้งให้พิจารณาเพิ่มเติมตัวชี้วัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตัวชี้วัดและผลการประเมินไม่สามารถบอกถึงประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต่อไป
3.
ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาปรับปรุงตัวชี้วัดในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่างๆ ดังนี้
3.1 การดำเนินการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Economy) เช่น การส่งเสริมหรือสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น การส่งเสริมหรือสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น
3.2 การบริหารจัดการของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีการดำเนินการที่ทำให้แบ่งเบาหรือลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐลงไปได้ เช่น การดำเนินโครงการโดยมีการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnership : PPP) เป็นต้น
3.3 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสำนักงบประมาณ และหน่วยงานต่างๆ เช่น มีการแบ่งประเภทงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรอย่างชัดเจน [งบประมาณสำหรับการบริหารราชการปกติ (Function Based) และงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล (Agenda Based)] มีการบูรณาการจัดทำงบประมาณร่วมกันเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการของรัฐบาลมีประสิทธิภาพไม่เกิดความซ้ำซ้อน เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
สาระสำคัญเรื่อง ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มีดังนี้
1. คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงการพัฒนาจากระดับนโยบายสู่ระดับพื้นที่ โดยยึดกรอบการเชื่อมโยงตามยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และนำไปใช้ในการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
2. ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะเปรียบเทียบให้เห็นถึงสถานะการพัฒนาในแต่ละพื้นที่และระหว่างพื้นที่ได้และยังเป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลการพัฒนาที่เชื่อมโยงจากนโยบายส่วนกลางสู่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก
ส่วนราชการต่าง ๆ ในการจัดเก็บข้อมูล และพิจารณาใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดที่ สศช. พัฒนาขึ้น รวมทั้งให้หน่วยงานส่วนกลางนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณกำหนดแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ได้เหมาะสมมากขึ้น ขณะเดียวกันจังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือใน
การวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาที่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน เชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 อีกทั้งเป็นการแปลงนโยบายระดับชาติ สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
3. การจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้ความสำคัญกับประเด็นพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่ (1) มิติการพัฒนาแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) (2) มิติการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Growth & Competitiveness) (3) มิติการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth) และ (4) มิติประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐ (Government Efficiency)
ข้อมูลจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ที่ นร 0505/34737 ลว. 2 ตุลาคม 2558
http://www.thaigov.go.th/
ภัทรพร (สลธ.)/รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ