ข่าวเด่น
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
วันที่ 8 กันยายน 2558 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ)
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ)
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ที่ นร 0503/31259 ลง
วันที่ 9 กันยายน 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ
2. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับผลการพิจารณาศึกษารายงาน เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปฏิรูป
เนื่องจากระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ยังมีลักษณะเป็นระบบราชการแบบดั้งเดิม (Traditional Bureaucracy) ที่มีขนาดองค์กรใหญ่เกินไป มีกระบวนการจัดการที่ล่าช้า มีการรวมศูนย์อำนาจ ไม่โปร่งใส ไม่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และความคุ้มค่าของเม็ดเงิน (Value for Money) ที่ลงทุนไปอย่างเพียงพอ ขาดความพร้อมและไม่สามารถรองรับแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ รวมถึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสังคมที่เปลี่ยนไปได้ นอกจากนี้ ระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ยังเป็นระบบที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ดัชนีธรรมาภิบาลและความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานและอัตราการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาดังกล่าวอาจบานปลายจนนำไปสู่วิกฤติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศได้
2. สิ่งที่ประชาชนจะได้รับหรือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูป
2.1 มีกลไกการบริหารการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบราชการที่เข้มแข็ง ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
2.2 องค์กรเป้าหมายทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและวิสาหกิจชุมชน จะได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะของตน ส่งผลให้มาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้สูงขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดกล่าวคือ ภายใน 10 ปี
- จะไม่มีองค์กรของรัฐที่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่คุ้มทุนอีกต่อไป
- ร้อยละ 20 ขององค์กรของรัฐ สามารถพัฒนาตนเองให้อยู่ในมาตรฐานระดับเลิศ
- ร้อยละ 20 ขององค์กรภาคเอกชน สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ระดับโลกด้วยมาตรฐานที่เป็นเลิศ
- ร้อยละ 100 ของวิสาหกิจชุมชน มีความเข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้
- ร้อยละ 50 ของวิสาหกิจชุมชน สามารถยกระดับเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ได้
2.3 ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น ทั่วถึงและเป็นธรรม
2.4 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยอย่างน้อยอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก
2.5 รายได้เฉลี่ยของวิสาหกิจชุมชนสูงขึ้น 3 เท่า ในเวลา 10 ปี
3. กรอบระยะเวลาในการปฏิรูปและขั้นตอนการดำเนินการ
3.1 เสนอให้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูปตามรายงานฉบับนี้ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นผู้ยกร่างกฎหมาย และเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้ดำเนินการโดยเร็ว
3.2 เสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 17 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปตามที่คณะกรรมาธิการเสนอ
ซึ่งรายละเอียดของกฎหมายและระเบียบที่ขอให้ปรับแก้ปรากฎตามข้อเสนอปฏิรูปและแนวทางดำเนินการในรายงานฉบับดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพแห่งชาติ ที่จะแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... พิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การพิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว ให้ดำเนินการโดยเร็ว
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ