ข่าวเด่น
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 สิงหาคม 2558 เรื่อง ข้อเสนอแนะ
เพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น)
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น)
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่
นร 0505/27838 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2557 (เรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น) ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรายงานเรื่อง การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการกระจาย
อำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ มีสาระสำคัญดังนี้
1. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปฏิรูป
ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบราชการมาแล้วหลายครั้งในหลายรัฐบาล และมีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อปี 2545 แต่ปัจจุบันการบริหารราชการแผ่นดินยังคงไม่ประสบความสำเร็จตามที่ประชาชนคาดหวังและจากการศึกษายังพบปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบบริหารงานบุคคลที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้
1.1 ระบบราชการยังมีขนาดและบทบาทที่ไม่เหมาะสมกับภารกิจของรัฐ ทำหน้าที่หลากหลาย ทั้งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ควบคุมกำกับ (Regulator) และทำหน้าที่ปฏิบัติการ (Operator) ทำให้ขนาดของหน่วยงานภาครัฐขยายตัวออกไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด งบประจำเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สัดส่วนงบลงทุนมีจำกัด
1.2 โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม มีความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน ไม่ทำงานตามภารกิจหลักของตนเอง รวมกำลังคนอยู่ในสังกัดของราชการบริหารส่วนกลาง จัดโครงสร้างองค์กรในแนวดิ่ง (Vertical) มีระเบียบขั้นตอนควบคุมกลั่นกรองงานมากมาย ขาดความยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถให้บริการสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
1.3 ระบบราชการมีโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจในราชการบริหารส่วนกลางมากกว่าการกระจายลงสู่พื้นที่ปฏิบัติการ การกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นยังทำได้จำกัด และยังขาดระบบความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน
1.4 โครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถบริหารงานในลักษณะที่เป็นแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกที่เป็นภารกิจร่วมกันได้ เนื่องจากขาดระบบการทำงานที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแบบบูรณาการซึ่งยึดพื้นที่ ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และการมีส่วนร่วมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Area, Function, and Participation)
1.5 ราชการบริหารส่วนภูมิภาคยังทำงานแยกตามสาขาหน้าที่ของส่วนราชการต้นสังกัด ทั้งที่ควรมีบทบาททำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนราชการบริหารส่วนกลางใน
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหน่วยราชการที่เป็นส่วนภูมิภาคในจังหวัดภายใต้สังกัดกระทรวงเดียวกันหลายหน่วยงาน และไม่มีหน่วยงานที่เป็นตัวแทนกระทรวงอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งส่วนราชการที่เป็นราชการบริหารส่วนกลางไปตั้งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเป็นจำนวนมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อาจบริหารงานแบบบูรณาการในจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.6 ในระดับการบริหารงานส่วนท้องถิ่น ยังมีประเด็นปัญหาการทับซ้อนในการทำงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การถ่ายโอนงานให้ท้องถิ่นยังไม่เป็นไปตามแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ แม้จะมีการถ่ายโอนงานแต่ก็มักจะไม่มีการเกลี่ยหรือถ่ายโอนอัตรากำลังและงบประมาณจากราชการบริหารส่วนกลางให้ท้องถิ่น ทำให้ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นขาดแคลนกำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
1.7 การเลื่อน ย้าย และแต่งตั้ง รวมทั้งการพิจารณาบำเหน็จความชอบของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เป็นไปตามหลักความรู้ ความสามารถ และระบบคุณธรรม มีการอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก และมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลระหว่างข้าราชการประเภทต่างๆ ที่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการแต่ละประเภทแตกต่างกัน
2. ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูป
2.1 ขนาดและความสัมพันธ์ระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปในลักษณะที่มีการบูรณาการกันมากขึ้น ซ้ำซ้อนกันน้อยลง
2.2 ราชการบริหารส่วนกลางจะลดขนาดลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดและกำกับนโยบายให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ
2.3 ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจะเข้มแข็งขึ้นและเป็นผู้กำกับและอำนวยความสะดวกในระดับพื้นที่และดำเนินงานเฉพาะในส่วนที่ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบงานในระดับปฏิบัติทั้งหมดที่มีความพร้อมในการดำเนินการและให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น เนื่องจากได้รับการถ่ายโอนงบประมาณและบุคลากรสอดคล้องกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติ
2.4 หน่วยงานราชการทุกระดับจะดำเนินการเฉพาะงานที่ไม่สามารถจ้างเหมาบริการได้
2.5 หน่วยงานอื่นของราชการบริหารส่วนกลางที่มีภารกิจต้องดำเนินการเร่งด่วนหรือดำเนินการเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สำเร็จภายในเวลาจำกัดที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ สามารถจะยุบเลิกได้เมื่อหมดความจำเป็น
2.6 การแต่งตั้งข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความเป็นธรรมและได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง รวมทั้งข้าราชการได้รับความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน และค่าตอบแทน
3. ขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการดำเนินการปฏิรูป
3.1 กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ
แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ต้องดำเนินการทันที โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทุกภาคส่วน และมาตรการระยะกลางโดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้ครอบคลุมทุกประเภทของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกำหนดบทบาทภาระหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนในการให้บริการสาธารณะและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี รวมทั้ง การจัดรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการสาธารณะให้เป็นหมวดหมู่และง่ายต่อการค้นหาและใช้งาน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
3.2 การทบทวนและจำแนกบทบาทภารกิจภาครัฐ
โดยการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมีมติคณะรัฐมนตรี “จำแนกบทบาทภารกิจหน่วยงานภาครัฐทุกประเภท” ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
3.3 ออกแบบโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมกับภารกิจต่างๆ ของภาครัฐในลักษณะที่มีความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและยุบเลิก ทั้งระบบงบประมาณ และ
การบริหารกำลังคน การจัดส่วนราชการประจำจังหวัดที่เป็นตัวแทนของกระทรวงที่แท้จริงในราชการบริหารส่วนภูมิภาค
แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ต้องดำเนินการทันที โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมีมติคณะรัฐมนตรีให้เกิดการบูรณาการในการออกแบบโครงสร้างส่วนราชการสมัยใหม่ และมาตรการระยะกลาง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
3.4 พัฒนากลไกหรือเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
โดยการแก้ไขปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ให้มีการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการมอบอำนาจทุกด้านให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
3.5 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
โดยการยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
3.6 เสริมสร้างความเข้มแข็งและเร่งรัดการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 3 ปี
3.7 การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
3.8 ส่งเสริมให้มีรัฐบาลระบบเปิด (Open Government) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินภารกิจของรัฐเพื่อเป็นเครือข่ายหรือพันธมิตรในการทำงานร่วมกัน
โดยการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องรัฐบาลระบบเปิด (Open Government) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
3.9 รัฐต้องปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ ให้มีมาตรฐานสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ มีเอกภาพในด้านค่าตอบแทนและมีความเป็นกลางทางการเมือง และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการประเภทต่างๆ เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ เป็นต้น และยกร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นธรรมและไม่เหลื่อมล้ำ เพื่อดึงดูดคนดีและคนเก่งเข้ารับราชการมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและความสามารถของบุคลากรภาครัฐ และการสนับสนุนการดำเนินการบริหารงานคณะกรรมการที่ดูแลเรื่อง
ธรรมาภิบาลหรือคุณธรรมจริยธรรมของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/27838 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2558
หนังสือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ สผ (สปช) 0014/5017 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ