ข่าวเด่น
แนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุ ก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ
คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง แจ้งแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ ให้ทุกส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติ
ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมการจัดหาพัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 วรรคแรก ในหลักการว่า หลังจากได้ทราบยอดเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหาแล้ว ให้ส่วนราชการรีบดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และตามขั้นตอนการจัดหาพัสดุตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไว้ก่อนได้ แต่จะก่อหนี้ผูกพันได้ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลใช้บังคับ และสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการแล้ว ซึ่งกรณีการทราบยอดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี หมายความถึง การทราบยอดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของส่วนราชการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว นั้น
คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 อยู่ระหว่าง
การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้งนั้น เพื่อให้ส่วนราชการสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และเป็นไปตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล กวพ. เห็นควรให้ยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 320 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2555 และหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 5 ลงวันที่ 8 มกราคม 2557 ในข้อ 1 กรณีการทราบยอดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุก่อน
พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ ดังนี้
1. การทราบยอดเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหาพัสดุตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 วรรคแรก ให้ถือว่าทราบยอดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 แล้วเสร็จก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 2
2. หลังจากทราบยอดเงินตามข้อ 1 แล้ว ให้ส่วนราชการดำเนินการเผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้ขายหรือผู้รับจ้างไว้ก่อนได้ เว้นแต่ขั้นตอนการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3
3. ให้ส่วนราชการที่จะจัดหาพัสดุกำหนดเป็นเงื่อนไขในเอกสารประกาศการจัดซื้อจัดจ้างไว้ด้วยว่า การจัดซื้อหรือการจัดจ้างครั้งนี้จะมีการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จากสำนักงบประมาณแล้ว สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการจัดหาในครั้งดังกล่าว ส่วนราชการสามารถยกเลิกการจัดหาได้
อนึ่ง ในการบันทึกข้อมูลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e – GP) ส่วนราชการสามารถดำเนินการบันทึกข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องระบุรหัสงบประมาณและรหัสแหล่งของเงิน แต่ทั้งนี้ส่วนราชการต้องบันทึกรหัสงบประมาณและรหัสแหล่งของเงินให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ
ทั้งนี้ หากส่วนราชการมีปัญหาในการปฏิบัติตามข้อ 1 – 3 ให้หารือ กวพ. เป็นรายกรณี
ข้อมูลจาก หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง
เลขที่หนังสือ กค (กวพ) 0421.3/ว 255 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2558
นฤมล (สลธ.) /รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ