การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริต ตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบด้วยแล้ว ตามหนังสือ สลค. ที่ นร 0505/ว (ล) 25110 ลง
วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และ
มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อมาตรการในการป้องกันการทุจริตและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
และให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริต ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ แบ่งออกเป็นมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว ดังนี้
มาตรการเร่งด่วน รัฐบาลควรส่งเสริม
โครงการบูรณาการงานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ หรือ
“Thailand Gateway”ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุผล โดยนำร่องในโครงการเกี่ยวกับการนำเข้า – ส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าส่งออก ที่ส่งผลกระทบต่อยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ประกอบด้วย ยางพารา ข้าวทั่วไป ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเลแช่แข็ง ชิ้นส่วนรถยนต์ และ
เครื่องทำความเย็นและตู้แช่แข็ง เพื่อให้ทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนธันวาคม 2558 โดยอาจบรรจุโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริม ในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง “การบูรณาการการทำงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ”
มาตรการระยะยาว รัฐบาลควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐ โดยเฉพาะในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E – Payment) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่รับบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดตามตรวจสอบให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม (Click)