ข่าวเด่น
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560)
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน)
ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. คือ
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2
(พ.ศ. 2556 - 2560) ไปสู่การปฏิบัติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบแล้ว ตามหนังสือ สลค. ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว48 ลง
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ลงมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐแปลงแนวทางและมาตรการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) สู่การปฏิบัติ โดยกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และของประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีดังนี้
1. รณรงค์ปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในระดับบุคคลจนถึงระดับองค์กร โดยให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงาน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ดำเนินการขับเคลื่อนและปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
2. ให้ความสำคัญกับการกำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีให้สอดคล้องและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายหลักตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2
ความเห็นของประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ แต่เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติ สมควรให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณากำหนดไว้ในกรอบการประเมินผล
การปฏิบัติราชการประจำปี ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) สรุปได้ดังนี้
วิสัยทัศน์ “สังคมไทยมีวินัย โปร่งใส ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และร่วมป้องกันและปราบปรมการทุจริต เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
เป้าหมายหลัก
เป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้แก่ “เพิ่มระดับของค่า CPI ของประเทศไทยเป็นสำคัญ โดยตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 50 ในปี 2560”
เป้าหมายรอง
1. ผู้มีอำนาจหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติกรรมการทุจริตลดลง
2. เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบลดลง
3. ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสูงขึ้น
4. ระดับการทุจริตอันเกิดจากภาคธุรกิจและการดำเนินการที่ต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ ลดลง
5. ระดับความโปร่งใสและการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้น
6. ระดับการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริต เน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วนในการรักษาประโยชน์สาธารณะ แนวทางและมาตรการ ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2. ส่งเสริมการใช้และกำหนดบทลงโทษในประมวลจริยธรรมแก่ทุกภาคส่วนและกำกับดูแลการประพฤติให้เป็นตามหลักประมวลจริยธรรม
3. การใช้การศึกษาและศาสนาเป็นเครื่องมือในการปลูก – ปลุกและปรับเปลี่ยนฐานความคิด
4. ดูแลคุณภาพชีวิตและรายได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : บูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ แนวทางและมาตรการ ประกอบด้วย
1. ประสานการทำงานและการบริหาร และบูรณาการระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
2. สร้างความเข้มแข็งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนในการป้องกันและปราบปราม
การทุจริต
3. พัฒนาระบบฐานข้อมูล
4. ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพัฒนาระเบียบหลักเกณฑ์ข้อบังคับในแต่ละหน่วยงานหลักในการต่อต้านการทุจริตให้สอดคล้องกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ แนวทางและมาตรการ ประกอบด้วย
1. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรต่อต้านการทุจริตและองค์กรเอกชนในระดับนานาชาติ
2. ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ
3. สร้างความร่วมมือโดยการเข้าร่วมปฏิญญาและการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แนวทางและมาตรการ ประกอบด้วย
1. บรรจุยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
2. จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรการและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
4. สร้างเสริมระบบแจ้งเบาะแสและการคุ้มครองพยาน การเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตให้กับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมและประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
5. สร้างเสริมระบบรับเรื่องร้องเรียนให้กับองค์การตามรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน และมาตรการเสริมด้านการป้องกันและปราบปราม
การทุจริต แนวทางและมาตรการ ประกอบด้วย
1. สร้างองค์ความรู้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยการศึกษาวิจัยและการพัฒนา
2. พัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้
3. สร้างบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาสำหรับตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตรายสาขา
4. จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
มาตรการเสริมด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริต ประกอบด้วย
1. การกำหนดตำแหน่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามมาตรา 100
2. การกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 103
3. การสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐด้านการเปิดเผยวิธีการคำนวณราคากลางและให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐทำบัญชีรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญาตามมาตรา 103/7
4. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานของภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA)
5. โครงการป้องกันการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยใช้มาตรการ
5.1 การบริหารความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
5.2 โครงการปฏิบัติการร่วมภาคเอกชนในการป้องกันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action Against Corruption)
6. การประชาสัมพันธ์และการรณรงค์สร้างกระแสต้านการทุจริต
ภัทรพร (สลธ.) /รายงาน
ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว48
กลุ่มสื่อสารฯ /จัดทำ