Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้  

ข่าวเด่น


มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทุกภาคส่วนฯ

คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ได้พิจารณาเรื่อง ขอความเห็นชอบแนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเช้อไวรัสอีโบลาในทุกภาคส่วน และเตรียมการส่งความช่วยเหลือของไทยไปยังแอฟริกาตะวันตก ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้ว มีมติ ดังนี้

             1. รับทราบสถานการณ์และความคืบหน้ามาตรการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

             2. เห็นชอบและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางมาตรการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วน

             3. เห็นชอบให้จัดความช่วยเหลือของประเทศไทยด้านเงินช่วยเหลือ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

             ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปให้ความช่วยเหลือในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา นั้น ในชั้นนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความรู้ความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ดูและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง รอบคอบ และมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อจากโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาก่อน โดยอาจศึกษาข้อมูลและประสบการณ์การดำเนินงานขององค์กรหรือประเทศที่มีการรับมือกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรมควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

             4. เพื่อให้การดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมในการป้องกัน ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ต่าง ๆ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก รวมทั้งโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นไปอย่างเป็นประบบและมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อไปได้


             สาระสำคัญของเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา สรุปได้ ดังนี้

             1. ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 อนุมัติงบกลางเพื่อโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และให้กระทรวงสาธารณสุขบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว นั้น

                  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการ ดังนี้

                  1.1 ติดตามสถานการณ์จากองค์การอนามัยโลกและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

                  1.2 คัดกรองผู้เดินทางที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่เกิดโรคโดยการซักประวัติและวัดอุณหภูมิที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 9 แห่ง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ท่าเรือ และพรมแดนช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 – 25 กันยายน 2557 มีผู้เดินทางที่ผ่านการคัดกรองสะสมแล้ว 1,689 ราย ทั้งนี้ มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารขาเข้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

                  1.3 เฝ้าระวัง สอบสวนโรคในผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อ อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

                  1.4 จัดหาชุดพร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระจายไปยังพื้นที่งวดแรกแล้วในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,000 ชุด และจัดซื้อเพิ่มเติมจากงบกลาง จำนวน 29,640 ชุด พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เป็นเงิน 11,463,832.40 บาท ซึ่งจะพร้อมส่งมอบได้ในเดือนตุลาคม 2557

                  1.5 เตรียมความพร้อมด้านศักยภาพของการรักษาพยาบาล ทั้งในด้านสถานที่และจัดการฝึกอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในด้านการรักษาพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรคในพื้นที่

                  1.6 เตรียมความพร้อมร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

                  1.7 จัดให้มีการซ้อมแผนสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทุกระดับ

                  1.8 จัดทำแผนเตรียมความพร้อมแบบบูรณาการทุกภาคส่วนสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

                  1.9 สื่อสารความเสี่ยงสู่เจ้าหน้าที่ ประชาชนและผู้เดินทาง

                  1.10 กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีคำเตือนประชาชนไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่เกิดโรค มีการลงทะเบียนคนไทยในประเทศที่มีการระบาดและเพิ่มกระบวนการกลั่นกรองการตรวจลงตราสำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด

                  1.11 จัดการเฝ้าระวังในสัตว์และสัตว์ป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                  1.12 ประสานความร่วมมือองค์การระหว่างประเทศ กับนานาประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา

             2. คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดย สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วนใน 3 สถานการณ์ คือ

                  สถานการณ์ที่ 1 : ยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย รวมถึงพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลาเดินทางมาจากต่างประเทศ

                  สถานการณ์ที่ 2 : กรณีพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทยแต่ยังไม่พบการแพร่กระจายเชื้อในประเทศ

                  สถานการณ์ที่ 3 : กรณีพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย

             3. การให้ความช่วยเหลือ

                  ประเทศไทยโดยรัฐบาล ควรแสดงบทบาทร่วมกับนานาชาติ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อเร่งควบคุมการระบาด ณ แหล่งต้นตอซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่สุด ในการยุติโรคติดต่อรุนแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในเวทีโลก ในโอกาสที่โลกกำลังประสบภาวะวิกฤติ จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้

                  3.1 เงินช่วยเหลือเพื่อสมทบในกรอบที่องค์การสหประชาชาติประมาณการไว้ โดยขอรับการสนับสนุนจากงบกลางของรัฐบาลตามความเหมาะสมและจัดการระดมเงินบริจาคเพิ่มเติมภายในประเทศผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น รัฐบาล สภากาชาดไทย ภาคเอกชน

                  3.2 สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย น้ำยาฆ่าเชื้อโรค วัสดุวิทยาศาสตร์สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

                  3.3 การสนับสนุนด้านนโยบายทางการเมือง เช่น นโยบายการต่อสู้กับการระบาดของโรค สนับสนุนการยกเลิกมาตรการห้ามการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ

                  3.4 ความช่วยเหลือด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งสิ่งของและผู้โดยสาร

                  3.5 จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งบุคลากรสาขาอื่น ๆ ในขั้นต้น ตั้งเป้าที่จะจัดหาชุดละจำนวน 35 คน โดยส่งไปร่วมปฏิบัติงานในประเทศใกล้เคียงกับประเทศที่มีการระบาด เพื่อร่วมจัดการฝึกอบรมหรือประสานงานเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรของประเทศเหล่านี้เพื่อรับมือการระบาด หรือร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ประสานความช่วยเหลือของสหประชาชาติ หรือเห็นควรส่งไปปฏิบัติงานในประเทศที่มีการระบาดคือ สาธารณรัฐกินี สาธารณรัฐไลบีเรีย และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน โดยมีเวลาปฏิบัติงานชุดละ 1 เดือน จำนวน 3 ชุด

             สำหรับ แนวทางมาตรการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางมาตรการดังกล่าวนั้น สามารถ คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียดแนวทางมาตรการฯ หรือ คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีและสิ่งที่ส่งมาด้วย


ข้อมูลจาก หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 118
ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2557


  


 

 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th