ข่าวเด่น
บุคลากรสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงานโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง
ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. นำโดย นายบดินทร์ พุ่มนิคม ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ได้ไปศึกษาดูงานโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2557 โดยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ไปศึกษาดูงานโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ณ ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมี คุณสุธาทิพย์ สัจจมาศ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการฯ
จุดเริ่มต้นของ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดใกล้เคียง และพระองค์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ซึ่งมีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ องคมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำโครงการและจัดหาที่ดินในพื้นที่เขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าว
ต่อมารัฐบาลอิสราเอลได้เข้าร่วมและให้ความช่วยเหลือโครงการดังกล่าว ในรูปของผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชนบทสาขาต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ “โครงการไทย – อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบทหุบกะพง” ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (วันที่ 19 สิงหาคม 2509 – 18 สิงหาคม 2514) โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่หุบกะพง จำนวน 12,079 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เพื่อพัฒนาที่ดิน จัดระบบชลประทาน แล้วจัดสรรให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนได้เข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม
การอพยพครอบครัวเกษตรกรเหล่านั้นได้จัดสร้างที่อยู่อาศัยรวมเป็นหมู่บ้านเกษตรกรขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานได้เข้าไปให้คำแนะนำในการบริหารงานของหมู่บ้าน และให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นการดำเนินงานในลักษณะของหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างที่สมบูรณ์แห่งแรกของประเทศไทย โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. จัดตั้งศูนย์สาธิตและทดลองเกษตร เพื่อศึกษาหาข้อมูลในด้านการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งตลอดจนสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตร
2. ทำการปฏิรูปที่ดินโดยจัดพัฒนาที่ดินที่ว่างเปล่าแล้วจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ในการเพาะปลูกเป็นของตนเอง เข้าทำเกษตรประกอบอาชีพตามวิธีการเกษตรแผนใหม่ แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน
3. รวมกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรร จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร โดยใช้หลักและวิธีการสหกรณ์
4. เป็นแหล่งให้การศึกษาการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ แก่เกษตรกร
สำหรับ “ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง” นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2549 และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านการเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยมีผู้รับผิดชอบ คือ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ซึ่งมีภารกิจหลัก ดังนี้
1. งานการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์
2. งานการจัดระบบชลประทาน
3. งานสาธิตและทดลองการเกษตร
4. งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ในโครงการ
5. งานส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการพระราชประสงค์
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ