ข่าวเด่น
การประชุมสัมมนาคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมสัมมนาคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการ ก.พ.ร. ชี้แจงแนวทางการพัฒนาระบบราชการ และมีการชี้แจงกรอบการประเมินผล แนวทางการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยนายนครเขตต์ สุทธปรีดา รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ณ ห้องประชุม เอ บี โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โนโวเทล)
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการ ก.พ.ร. ชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาระบบราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. ความสรุปว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำยุทธศาสตร์ของประเทศและยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงมาเป็นหลักสำคัญในการจัดทำคำรับรองและติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยในปี 2557 กำหนดตัวชี้วัดระหว่างกระทรวงที่มีเป้าหมายร่วมกัน (Joint KPIs) ซึ่งต้องมีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวง 11 เรื่อง นอกจากนี้ได้เพิ่มตัวชี้วัดบังคับในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพ 2 เรื่อง คือ (1) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ เพื่อให้ระบบ IT และฐานข้อมูลของส่วนราชการต่างๆ มีความเชื่อมโยงกัน ตลอดจนมีระบบการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซึ่งจะช่วยลดงบประมาณด้าน IT ลงได้ (2) ปรับปรุงการบริการประชาชนโดยกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพการให้บริการประชาชน (Service Level Agreement: SLA) เป็นตัวชี้วัดของกรมที่ต้องให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก สนับสนุน เรื่อง National Single Window ให้มีการลดขั้นตอนและลดเอกสารเพื่อให้การค้าการลงทุนหรือการนำเข้าส่งออกสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วโดยมีกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพหลักในส่วนของสำนักงาน ก.พ.ร. เองก็จะเน้นการผลักดันการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยตามรายงานผลการวิจัย เรื่อง Doing Business ของธนาคารโลก
จากนั้น นายนครเขตต์ สุทธปรีดา รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ชี้แจงกรอบการประเมินผล แนวทางการ เจรจาข้อตกลงและประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ความสรุปว่า หลักการประเมินผลฯ ในปีนี้ มีการจัดทำคำรับรองเป็นรายกระทรวง ซึ่งยังมีการจัดทำคำรับรองในระดับกรมโดยให้กระทรวงเป็นเจ้าภาพตามหลักการที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด สำหรับส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวงยังคงจัดทำคำรับรองเป็นรายกรม โดยตัวชี้วัดมิติภายนอก ด้านการประเมินประสิทธิผลนั้น ตัวชี้วัดต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศและยุทธศาสตร์กระทรวง และตัวชี้วัดที่กำหนดต้องสามารถวัดผลได้ในหนึ่งปี หากตัวชี้วัดใดไม่สามารถวัดผลได้ในหนึ่งปีจะกำหนดเป็นตัวชี้วัด Monitor รวมทั้งควรมีตัวชี้วัดไม่เกิน 5 ตัว เพื่อลดให้เหลือแต่ตัวชี้วัดที่มีความสำคัญและไม่เป็นภาระแก่ส่วนราชการ ทั้งนี้ ในการจัดสรรเงินรางวัลจะจัดสรรให้แก่กระทรวง ซึ่งกระทรวงจะรับผิดชอบรับไปจัดสรรเงินรางวัลให้กับกรมต่อไป ตามแนวทางที่ ก.พ.ร. กำหนด
สำหรับตัวชี้วัดระหว่างกระทรวงที่มีเป้าหมายร่วมกัน (Joint KPIs) นั้น ได้กำหนดให้วัดใน 3 ระดับ คือ (1) ในระดับ Impact JKPI โดย สศช. เป็นผู้กำหนด ซึ่งจะวัดเฉพาะระดับกระทรวงเฉพาะกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่อง (2) ระดับ Outcome Joint KPIs จะถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดในระดับกรม เฉพาะกรมที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่อง (3) ระดับ Output KPIs จะถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดในระดับกรม เฉพาะกรมที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน Joint KPIs ให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมี Joint KPIs อีก 2 เรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในการพัฒนาประสิทธิภาพของภาครัฐ คือ National Single Window และ Doing Businessส่วนการประเมินคุณภาพ มีตัวชี้วัด Service Level Agreement (SLA) วัดเฉพาะกรมที่ให้บริการประชาชนและมีภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก มิติภายใน มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเล็กน้อยโดยเพิ่มตัวชี้วัดการพัฒนาประสิทธิภาพระบบสารสนเทศภาครัฐ เน้นการพัฒนาระบบ IT ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล
ส่วนกรอบการประเมินผลฯ ระดับกรม ในมิติภายนอก ด้านการประเมินประสิทธิผลจะกำหนดให้มีการถ่ายทอดจากตัวชี้วัดภารกิจหลักของกระทรวงตามยุทธศาสตร์ของประเทศและยุทธศาสตร์ของกระทรวงไปยังกรม โดยเลือกเฉพาะตัวชี้วัดที่กรมมีส่วนเกี่ยวข้อง
กลไกและวิธีการจัดทำคำรับรองฯ สำหรับปีนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการสองระดับ คือ คณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลของส่วนราชการระดับกระทรวงซึ่งแต่งตั้งโดย ก.พ.ร. และคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลส่วนราชการระดับกรม ซึ่งแต่งตั้งโดยปลัดกระทรวง ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาฯ ระดับกระทรวงจะดำเนินการเจรจาคำรับรองฯ ร่วมกับคณะกรรมการเจรจาฯ ระดับกรม
หลังจากนั้น มีการแบ่งกลุ่มคณะกรรมการเจรจาฯ แยกตามกระทรวงต่างๆเพื่อให้คณะกรรมการของแต่ละกระทรวงได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างตัวชี้วัดในระดับกระทรวง ซึ่งได้รับเกียรติจากกรรมการเจรจาฯ ประจำปีงบประมาณ 2557 ของแต่ละกระทรวงเข้าร่วมการประชุมดังนี้
กลุ่มที่ 1 ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 2 นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการเจรจาฯกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายไพโรจน์ พรหมสาส์น ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงแรงงาน
กลุ่มที่ 3 นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กรรมการเจรจาฯ กระทรวงการคลัง
กลุ่มที่ 4 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กลุ่มที่ 5 นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร
กลุ่มที่ 6 นายวิษณุ เครืองาม ประธานกรรมการเจรจาฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กลุ่มที่ 7 นายสีมา สีมานนท์ ประธานกรรมการเจรจาฯ ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และราชบัณฑิตยสถาน) และนายปรีชา วัชราภัย ประธานกรรมการเจรจาฯ สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำข้อสังเกตของคณะกรรมการเจรจาฯ ไปหารือกับส่วนราชการ เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ (กองพัฒนาระบบ 2) / ข่าว & ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ