ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ในการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาระบบราชการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ลงพื้นที่ตรวจประเมิน
“สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” ยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อรับรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2556” โดยเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยม ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรีและในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ
โดยมีผู้ร่วมตรวจประเมินยืนยันผลฯ ประกอบด้วย
นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
นายวิโรจน์ อาจรักษา นางสาวเยาวพร ปิยมาพรชัย อ.ก.พ.ร. รวมทั้ง
นายวิทยา ติยะวงศ์ นางสาวธนพร บวรธรรมจักร คณะทำงานตรวจประเมินรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี 2556 และ
นายณัฐพงษ์ คันธรส สำนักงาน ก.พ.ร.
พร้อมกันนี้ ได้รับเกียรติจาก
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับพร้อมกล่าวสรุปผลการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ความโดยสรุปว่า จากสภาพปัญหาที่ประชาชนและร้านค้าใช้น้ำมันทอดซ้ำอันเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา
พยาบาลและเสียชีวิตในบางราย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างความรู้สู้ภัยน้ำมันทอดซ้ำ รู้ทันโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง โดยจัดหลักสูตรอบรมบุคลากรในส่วนราชการ จากนั้น บุคลากรของสำนักงานฯ ได้มีการจัดอบรมให้กับเครือข่ายนักเรียนของโรงเรียนภายใต้ข้อตกลง MOU โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคมะเร็ง รวมไปถึงให้รู้ทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง อาทิ จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน โดยจัดให้มีการอบรมความรู้และตรวจสอบคุณภาพอาหารในโรงเรียน ณ โรงเรียนสตรีนนทบุรี เผยแพร่ความรู้ผ่านวารสารของมหาวิทยาลัยและเผยแพร่ในงานปฐมนิเทศนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมถึงเผยแพร่ความรู้แก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัด และจัดกิจกรรมมอบป้ายรับรองคุณภาพน้ำมันแก่ร้านค้า จัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนอนันต์สุขสันต์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ชุมชนดีอินทร์พัฒนา เทศบาลนครพิษณุโลก สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีการวิเคราะห์และกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และแต่งตั้งคณะกรรมการภาคประชาชน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ องค์กรภาคประชาชน องค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชน ภาควิชาการ/การศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น และติดตามตรวจสอบผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชนและมีการปรับปรุงให้ทันสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน
นายวีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมโดยสรุปว่า จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ได้มีการต่อยอดเป็นโครงการ CSR ร่วมกับผู้ประกอบการน้ำมันพืช มีการมอบป้ายรับรองคุณภาพน้ำมันแก่ร้านค้า และให้เครดิตแก่บริษัทน้ำมันพืช นอกจากนี้ ยังมีการขยายงานที่ทำสู่ภาคประชาชน เกิดเป็นโครงการอย.น้อย ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนเป็นสมาชิก อย.น้อยแล้วกว่าแสนคน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ได้รับการตอบรับจากครูและนักเรียนในการร่วมมือกันรณรงค์ความปลอดภัยด้านอาหารในโรงเรียนพร้อมวางเป้าหมายในปี 2557 ริเริ่มดำเนินโครงการอย.สูงวัย โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยเกษียณ ที่ยังมีจิตอาสาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสอนลูกสอนหลานต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้พิการ จึงได้จัดทำคู่มืออย.อักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา ขึ้น แล้วจะขยายผลให้กับกลุ่มผู้พิการกลุ่มอื่นๆ ในลำดับต่อไป ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านทาง Oryor Smart Application โปรแกรมที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยาอาหารเครื่องสำอางเครื่องมือแพทย์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและวัตถุเสพติด
ในช่วงบ่าย คณะผู้ตรวจประเมินฯ เยี่ยมชมร้านอาหาร cabbages and condoms ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ หนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นคณะทำงานของ อย. โดยมี
นายนิรัตน์ เตียสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รวมทั้งบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเข้าร่วม ร้านดังกล่าวก่อตั้งมากว่า 26 ปี โดยคุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ที่นี่เป็นทั้งร้านอาหารและแหล่งศึกษาดูงานที่ช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวและการป้องกันโรคเอดส์ในสถานที่เดียวกัน โดยทางร้านเล็งเห็นความสำคัญและให้ความใส่ใจในการปรุงอาหารให้กับลูกค้า ตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกวัตถุดิบ การปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันที่สดใหม่มีการแยกน้ำมันสำหรับทอดและผัด ที่สำคัญคือ ทางร้านจะเน้นย้ำให้พนักงานมีการเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ใหม่ตามรอบระยะเวลาเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากการบริโภคน้ำมันเสื่อมคุณภาพ โดยมองว่าร้านอาหารต้องมีทั้งคุณภาพและมีคุณธรรมต่อลูกค้า มั่นใจได้ว่า หากมาที่ร้านนี้จะปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำอย่างแน่นอน
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว &ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ