ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ในการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลฯ กรมราชทัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ลงพื้นที่ตรวจประเมิน “กรมราชทัณฑ์” ยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อรับรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2556” โดยเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยม ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อ.ก.พ.ร. ได้แนะนำคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย นายวิโรจน์ อาจรักษา (อ.ก.พ.ร.) นายวิทยา ติยะวงศ์ นางสาวธนพร บวรธรรมจักร คณะทำงานตรวจประเมินรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี 2556 และนายณัฐพงษ์ คันธรส สำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมทั้งชี้แจงวัตถุประสงค์ในการลงตรวจประเมินยืนยันผลฯ ว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ ปรับปรุงการบริการของภาครัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบราชการไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยจัดให้มีการมอบรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริการราชการแบบมีส่วนร่วม” ขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการ และเชิดชูผลงานต้นแบบที่ดีในด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ กระบวนการมีส่วนร่วมที่เอื้ออำนวย และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผล
พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต้อนรับและกล่าวสรุปถึงการดำเนินการของกรมฯ ว่า ในอดีต กรมราชทัณฑ์มีคำจำกัดความว่า
“แดนสนธยา” โดยประสบปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและประชาชน เนื่องจากไม่มีใครสามารถเข้ามามีส่วนร่วมหรือรับทราบแนวทางและวิธีการปฏิบัติงานของกรมฯ ได้ ไม่มีใครทราบว่าหลังกำแพงเรือนจำ ผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติอย่างไร เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติราชการอย่างไร และการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์จะสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้หรือไม่ อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้กระทำความผิดเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์มากขึ้น และด้วยปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังไม่ได้มาตรฐาน ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงต่อการควบคุมและรักษาความปลอดภัย
นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ ได้มีนโยบายที่สนองตอบต่อความคาดหวังของประชาชนในเป้าหมายสูงสุดคือ ควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ โดยมีกลยุทธ์ในการนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ กำหนดนโยบายส่งเสริมการมีงานทำของผู้ต้องขัง แสวงหากระบวนการมีส่วนร่วมจากเครือข่าวพันธมิตรและภาคประชาสังคม ด้วยการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง และแสวงหาตลาดแรงงาน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาให้กับกรมราชทัณฑ์ โดยผ่านรูปแบบทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร การรับฟังความคิดเห็น การเปิดโอกาสให้เข้ามาเกี่ยวข้องมีบทบาท และการเข้ามาให้ความร่วมมือ
ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมในบริหารราชการของกรมราชทัณฑ์ ได้มีการดำเนินการจัดทำและลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมฯ กับกระทรวงต่างๆ องค์กร และภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย โดยได้มีการประเมินและวัดระดับ
มีระดับความพึงพอใจของประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในงานราชทัณฑ์คิดเป็นร้อยละ 96.18
การสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนากรมราชทัณฑ์ให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ในการควบคุมแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม ตามวิสัยทัศน์ของกรมราชทัณฑ์ที่ได้ตั้งไว้
กลุ่มสื่อสาร (สลธ.)/ ข่าว&ภาพ
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ