ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ในการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาระบบราชการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
ลงพื้นที่ตรวจประเมิน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อรับรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2556” โดยเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยม ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ณ สถานีตำรวจภูธรกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ
โดยมีผู้ร่วมตรวจประเมินยืนยันผลฯ ประกอบด้วย
นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธาน อ.ก.พ.ร.
นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อ.ก.พ.ร.ฯ รวมทั้ง
นายวิทยา ติยะวงศ์ นางสาวธนพร บวรธรรมจักร คณะทำงานตรวจประเมินรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี 2556 และ
นายณัฐพงษ์ คันธรส สำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมกันนี้ ได้รับเกียรติจาก
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
ในช่วงแรก
พ.ต.อ.จิรภัทร โพธิ์ชนะพันธุ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกะทู้ กล่าวสรุปผลการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ความโดยสรุปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอตัวอย่างโครงการที่แสดงให้
เห็นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ริเริ่มโครงการไปจนถึงระดับความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ โครงการป่าตองเซฟตี้โซน ของสถานีตำรวจภูธรกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงได้วางมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ พื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม นำมาพิจารณาวิเคราะห์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 โซน โดยมีการบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มีการจัดอาสาสมัครตำรวจบ้าน อาสาสมัครชาวต่างชาติ (VOLUNTEER) อปพร. อส. และ Beach Guard มาเป็นแนวร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อช่วยในการแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเพิ่มการเฝ้าระวังในพื้นที่ให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังที่ว่า “ประชาชนคือตำรวจคนแรก” ปัจจุบัน สถานีตำรวจภูธรกะทู้ มีเครือข่ายอาสาสมัครจำนวน 15 เครือข่าย ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ มีการติดตั้งระบบ
โทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อแก้ไขปัญหาการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปและเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น ยังได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร และเครือข่ายต่างๆ ส่งข้อมูลข่าวสารผ่านโครงการวิทยุเครื่องแดง โดยได้จัดทำแม่ข่ายไว้ในป้อมตำรวจบางลา ซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุด้วยตนเอง ทำให้สามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทุกระยะ มีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง หากประสบปัญหาข้อขัดข้อง ก็มีการกำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงาน ผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการดังกล่าว พบว่า รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเกิดความประทับใจและความผูกพัน
หลังจากนั้น
พ.ต.อ.ดร.ภาณุวิชญ์ ทองยิ้ม รองผู้บังคับการ กองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมแบบมีส่วนร่วมและการป้องกันอาชญากรรมแบบบูรณาการ ความโดยสรุปว่า การป้องกันอาชญากรรมแบบบูรณาการเป็นการผสมผสาน ประยุกต์ ปรับวิธีคิด วิธีการทำงานทั้งของตำรวจและประชาชน มาบูรณาการในการ
แก้ไขปัญหาราชการร่วมกันในรูปแบบบูรณาการอย่างลงตัว ขณะที่การป้องกันอาชญากรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นการทำให้ประชาชนมาร่วมและเป็นเจ้าของเอง โดยมีตำรวจคอยให้คำแนะนำ สนับสนุน สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดี ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการป้องกันอาชญากรรม ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมแบบตำรวจเป็นเจ้าของชุมชน ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ตำรวจเป็นผู้บริหารและแบบพลังประชาชน ทั้งนี้ การสร้างชุมชนปลอดภัยหรือ Safety Zone สำหรับนักท่องเที่ยว มีขั้นตอนการดำเนินงาน 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย ค้นหาแกนนำและองค์กรท้องถิ่น จุดประกายความคิด ศึกษาพื้นฐานชุมชน วิเคราะห์ปัญหาชุมชน ยกร่างกิจกรรมชุมชน นำกิจกรรมไปสู่การปฏิบัติ และประเมินผล ซึ่งมาตรการการป้องกันอาชญากรรมแบบบูรณาการนั้น อาจแบ่งออกเป็น 7 มาตรการ ดังนี้ 1) โดยตำรวจ 2) โดยเจ้าของพื้นที่ 3) โดยผู้ใช้พื้นที่ 4) โดยหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง 5) โดยใช้เทคโนโลยี 6) โดยใช้เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง และ 7) การผสมผสานมาตรการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างบูรณาการ โดยการปฏิบัติทั้งหมด ตำรวจจะเป็นพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้การสนับสนุนแต่บริหารงานโดยตำรวจที่เรียกว่า ตำรวจชุมชน ชุมชนจะดำเนินการโดยชุมชน และชุมชน เพื่อชุมชนของเขาเอง ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกหวงแหนบ้านเกิด ทำให้เกิดเป็นพลังประชาชน เป็นการพัฒนาอย่างถูกต้องและยั่งยืน ทำให้เกิดความผาสุกในชุมชน
ในช่วงบ่าย
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะผู้ตรวจประเมินฯ ลงพื้นที่ป่าตอง โดยมี พ.ต.อ.พีระยุทธ การะเจดีย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.จิรภัทร โพธิ์ชนะพันธ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกะทู้ รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรกะทู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัด อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยว ตัวแทนจากผู้ประกอบการจากสถานประกอบการในพื้นที่หาด ป่าตองเข้าร่วมพร้อมกันนี้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้ปัญหาอาชญากรรมและคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าตองลดลง และสร้างความพอใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะที่หาดป่าตอง ซึ่งจากผลการดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เกิดความร่วมมือของภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องของคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีแนวโน้มลดลง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่พอใจกับการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนในพื้นที่
หลังจากการดำเนินโครงการ “ป่าตองเซฟตี้โซน” ประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่องแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ