ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ในการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลฯ กรมปศุสัตว์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
เมื่อวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาระบบราชการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ลงพื้นที่ตรวจประเมิน
“กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อรับรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2556”
โดยเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยม ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ณ สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก และในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ โดยมี อ.ก.พ.ร. ตรวจประเมินยืนยันผล ประกอบด้วย พลเอกมนตรี สังขทรัพย์ นาย พีรพล ไตรทศาวิทย์ รวมทั้ง นายวิทยา ติยะวงศ์ นางสาวธนพร บวรธรรมจักร (คณะทำงานตรวจประเมินรางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี 2556) และนายณัฐพงษ์ คันธรส (สำนักงานก.พ.ร.)
ในช่วงเช้า ได้รับเกียรติจาก
นายเจน รัตนพิเชฏฐชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับคณะผู้ตรวจประเมินฯ และ
สัตวแพทย์หญิง ดร. วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวสรุปผลการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ความโดยสรุปว่า จากปัญหาโรคระบาด การขาดแคลนอาหารเลี้ยงวัวเนื้อ ตลอดจนการขาดวัวสายพันธุ์ดี กรมปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินตัวอย่างโครงการต้นแบบคือ โครงการเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อ สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมที่มีการส่งเสริมให้เลี้ยงวัวเนื้อเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งกรม
ปศุสัตว์ ได้มีการคัดเลือกอาสาสมัครปศุสัตว์ที่มีผลงานดีเด่นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นตัวอย่างต้นแบบให้การดำเนินงานให้กับอาสาปศุสัตว์อื่นๆ สามารถศึกษาและนำไปประยุกต์ในการดำเนินงานได้มีการขยายผล พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่ายต่างๆ เช่น การจัดโครงการประชุมสัมมนาอาสาปศุสัตว์ เพื่อให้อาสาปศุสัตว์ดีเด่น และอาสาปศุสัตว์อื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยยึดหลัก “มีความต้องการร่วม มีความสนใจร่วม และได้รับผลตอบแทนร่วม” โดยได้มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่ออาสาสมัครปศุสัตว์จำนวน 300 คน มีผลการประเมินเท่ากับร้อยละ 86.73 สูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 80 นอกจากนี้ ยังมีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเกษตรกร หลักสูตรวิชานี้ได้บรรจุวิชา “การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน” ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ตระหนักถึงภารกิจที่ควรปฏิบัติในหมู่บ้าน-ตำบลของตนเอง
ในช่วงบ่าย คณะผู้ตรวจประเมินฯ เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของอาสาปศุสัตว์ (นายจรัญ แสงปรางค์) ณ ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาโคเนื้อ ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมานายจรัญ ได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้ออย่างมุ่งมั่น มีการพัฒนาการเลี้ยง โคเนื้อตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดำเนินงานตามมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกร โดยจัดตั้งฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาโคเนื้อประจำอำเภอบางกระทุ่ม เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปศึกษาหาความรู้ด้านการเลี้ยงโคเนื้อ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยง โคเนื้อสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลงานและความสำเร็จในการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ อาทิ ในปี พ.ศ.2550 ได้รับรางวัล “ผู้นำท้องถิ่นดีเด่น” พลังแผ่นดินขับเคลื่อนการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการโดยนิตยสารเส้นทางไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ นายจรัญ แสงปรางค์ ยังได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
กลไกการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับรู้นับเป็นบทบาทสำคัญในการสร้าง “อาสาปศุสัตว์” ภายใต้การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่สำคัญคือ “ชี้ ชวน เชิญ ช่วย เชิดชู” ซึ่งวันนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เท่านั้น แต่ได้ขยายครอบคลุมพื้นที่ทุกเขต และทุกจังหวัด ทั่วประเทศ
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ