Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้  

ข่าวเด่น


สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Public Sector Productivity on Citizen-Centered Service




alt

 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการภาครัฐ” โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Brian Marson, President of the Public Service Excellence Institute of Canada มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานภาครัฐไทย ระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2556 และวันที่ 1-2 ตุลาคม 2556 รวมระยะเวลา 5 วัน ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ พร้อมเข้าเยี่ยมชมหน่วยงานราชการ

alt          นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ว่า “การพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการเป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่ได้กำหนดขอบเขต และวิธีการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไว้หลายประการ โดยเฉพาะในหมวด 5 ได้กำหนดให้ส่วนราชการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และหมวด 7 การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและได้รับบริการเร็ว สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงบริการ โดยการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติราชการลงร้อยละ 30-50 และได้ดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินการเพื่อมอบรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนแก่หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่โดดเด่น ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นรางวัลบริการภาคaltรัฐแห่งชาติในปัจจุบัน และได้ดำเนินการผ่านมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 11 ปี และในปีนี้ นโยบายรัฐบาลเรื่องแผนการบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) มีเป้าหมายที่จะให้ส่วนราชการเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการประชาชน ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบกับแผนการส่งเสริมและพัฒนาธรรมาภิบาลในภาคราชการเพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้ส่วนราชการพัฒนาระบบการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ โดยการพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและบูรณาการการให้บริการ การพัฒนาการให้บริการทางเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย หรือการพัฒนาการให้บริการรูปแบบ Single Window Service”
alt 
        ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญ 14 ตัวแทนจากส่วนราชการที่มีความโดดเด่นในการให้บริการ เข้ามาเรียนรู้เทคนิคและแนวคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนางานบริการไปสู่ความเป็นเลิศจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก Dr. Brian Marson , President of the Public Service Excellence Institute of Canada โดยได้แบ่งหัวข้อการบรรยายและการฝึกปฏิบัติตลอดระยะเวลา 5 วัน ดังนี้ 

        ในวันที่ 24 กันยายน ได้มีการบรรยายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อ “การพัฒนาประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ” ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การให้บริการประชาชนของส่วนราชการต่างๆ มีสิ่งที่เป็นอุปสรรคและท้าทาย ขีดความสามารถในการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชนอยู่มากมาย อาทิ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของส่วนราชการต่างๆ ที่ส่งผลให้ความพึงพอใจของประชาชนลดลง การแข่งขันทางการตลาดและผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้งบประมาณในการบริหารงานaltภาครัฐลดลง และกระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจในการรับบริการของประชาชนกับการบริการสาธารณะ โดยมีการพัฒนากระบวนการและขั้นตอนการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องมากขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอโมเดล Public sector value chain หรือวงจรการสร้างคุณค่าในงานบริการของภาครัฐ โดยเน้นถึงตัวแปรหลัก 3 ประการ ได้แก่ บุคลากร (People) การบริการ (Services) และความไว้วางใจในงานบริการ (Trust) อีกทั้งยังมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมฯ ถึงปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาความพึงพอใจและความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กรภาครัฐ ซึ่งสรุปผลได้ 3 ประการหลัก ประกอบด้วย ภาวะของผู้นำในการกำหนดและสื่อสารเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจน, ภาระงาน และ การพัฒนาสายงาน

          วันที่ 25 กันยายน 2556 การบรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการให้บริการประชาชนแบบประชาชนเป็นศูนย์กลางในกระแสโลก”
โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นดังนี้ 

        ประเด็นที่ 1 การศึกษาความต้องการและความพึงพอใจของภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่มีต่องานบริการของภาครัฐ และกรณีตัวอย่างการบริการประชาชนแบบประชาชนเป็นศูนย์กลางในประเทศแคนาดา และประเทศ นิวซีแลนด์ เกี่ยวกับ 5 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจงานบริการ ได้แก่ 1) ระยะเวลาการให้บริการ 2) ผลสัมฤทธิ์ของการให้บริการ (สนองได้ตามความต้องการ) 3) ความยุติธรรมในการให้บริการ 4) ความรู้และขีดสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ และ 5) มารยาทและการบริการพิเศษของเจ้าหน้าที่ โดยหากงานบริการแต่ละงานประกอบด้วย 5 ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้เกิดความพึงพอใจในระดับสูงสุด และหากมีไม่ครบทั้ง 5 ปัจจัย จะทำให้ระดับความพึงพอใจลดน้อยถอยลงตามลำดับ ซึ่งระบุว่า การสำรวจความ พึงพอใจ เอื้อให้เกิดการสร้างงานบริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเมื่อภาครัฐเข้าใจความต้องการของประชาชนแล้ว ก็จะสามารถวางแผนสร้างงานบริการให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังดังกล่าวได้ โดยจะพัฒนางานบริการให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และจะวัดผลคุณภาพงานบริการนั้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป 

        ประเด็นที่ 2 กรณีตัวอย่างของ One Stop Service และ e-Service ที่เป็นเลิศของแต่ละประเทศ ในโลกปัจจุบัน มีรูปแบบการให้บริการแบบครบวงจรอยู่ 3 ประเภท ดังนี้ 

           1) การบริการด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น One-Stop Website, Information Counter, Call Referral Centers 

           2) การสร้างศูนย์กลางงานบริการ เช่น โดยสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า เพื่อรวมการให้บริการทุกอย่างในสถานที่เดียว 

           3) การสร้างกลุ่มการบริการ คือ การรวมงานบริการที่อยู่ในประเภทเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกัน มาให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) 
alt
          นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแนวโน้มการให้บริการแบบครบวงจรอยู่ 4 รูปแบบคือ 1) รูปแบบที่มีเนื้อหาสาระเดียวกัน 2) รูปแบบของความร่วมมือในระดับภายในกรม ระหว่างกรม และระหว่างรัฐ 3) รูปแบบช่องทางการบริการ เช่น การรับบริการด้วยตนเองผ่านทาง Internet/Call Center และ 4) รูปแบบการสร้างธรรมาภิบาล เป็นต้น 

          ประเด็นที่ 3 การประเมิน การกำหนดมาตรฐาน และปรับปรุงการบริการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการบริการที่เป็นเลิศ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความพึงพอใจมากที่สุดคือ การได้รับความสะดวกในการบริการ ซึ่งภาครัฐต้องเข้าใจความต้องการของประชาชนที่มาขอรับงานบริการ
          ประเด็นที่ 4 ห่วงโซ่ความสัมพันธ์ระหว่างการบริการแบบประชาชนเป็นศูนย์กลางและความศรัทธาของประชาชนต่อระบบราชการ ซึ่งมีลักษณะการเชื่อมโยง ดังนี้ 

               การเชื่อมโยงคู่ที่ 1 คือ ระหว่างความรับผิดชอบในการให้บริการของพนักงานรัฐและการบริการที่เป็นเลิศ 

               การเชื่อมโยงคู่ที่ 2 คือ ระหว่างการบริการที่เป็นเลิศกับความศรัทธาของประชาชน 

        ซึ่งผลการบรรยายและการปฏิบัติการในวันนี้ สามารกล่าวโดยสรุปคือ การให้บริการแบบประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนและสร้างความศรัทธาของประชาชนต่อภาครัฐและระบบราชการได้เป็นอย่างดี 
alt
        วันที่ 26 กันยายน 2556 การบรรยายในหัวข้อ “การประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลและระบบความรับผิดชอบ” ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อรัฐบาลทั่วโลกกำลังถูกประชาชนกดดันให้ยกระดับการบริหารจัดการงบประมาณในการบริหาร ส่งผลให้หลายๆ รัฐบาลพยายามสร้างเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานและระบบความรับผิดชอบทั้งในระดับการบริหารงานภายใน และในระดับนิติบัญญัติ ซึ่งการปฏิบัติงานด้านการบริหารของประเทศแคนาดาจะใช้แนวคิดการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบ ในการปลูกฝังความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ มีระบบการรายงานผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและสังคมประจำปี 

        ทั้งนี้ ผลการประเมินจะมีส่วนในการประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐมนตรี ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกทั้งจะช่วยให้การบริหารของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการช่วยเปลี่ยน พฤติกรรมการบริหารองค์กรและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน 

        รวมถึงได้มีการบรรยายเรื่อง “วิธีการนำข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าไปใช้เพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานของภาครัฐ” แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
          ประเด็นที่ 1 แนวทางปฏิบัติในการวัดความคาดหวัง ความพึงพอใจและการจัดลำดับความสำคัญของผู้รับบริการเพื่อใช้ในการพัฒนาผลงานโดยมีวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลของการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ โทรศัพท์ การซักถามโดยตรงกับผู้ใช้บริการ เว็บไซต์ ไปรษณีย์ อีเมล์ และจุดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจการพัฒนาการให้บริการด้านต่างๆ ของรัฐ ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการประชาชน โดยเริ่มจาก การวัดความพึงพอใจของประชาชน การวัดความคาดหวังและการจัดลำดับของการให้บริการประชาชน การกำหนดเป้าหมายและพัฒนาแผนการยกระดับการให้บริการประชาชน และ การปฏิบัติ ตรวจสอบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการให้บริการของรัฐได้
          ประเด็นที่ 2 แนวทางปฏิบัติในการวัดความพึงพอใจของผู้รับบริการและการพัฒนาผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ 3 กรณีศึกษา ดังนี้

          1) กรณีศึกษาของ The Royal Canadian Mounted Police (RCMP) ผลการสำรวจและประเมินการให้บริการประชาชนของ RCMP พบว่า ประชาชนพึงพอใจการทำงานของ RCMP ร้อยละ 83, ประชาชนเห็นว่า RCMP มีบริการ Call Center ที่ดี ร้อยละ 92 และประชาชนพึงพอใจการให้บริการของ RCMP ทั่ว British Columbia ร้อยละ 95 

          2) กรณีศึกษาของ British Columbia Province Internal Service Improvement ผลการสำรวจและประเมินการให้บริการประชาชนของ Government of British Columbia พบว่า ความรู้และการให้ข้อมูลแก่ประชาชนของบุคลากรในองค์กร ทำให้ความพึงพอใจของประชาชนในการบริการของภาครัฐใน British Columbia มากขึ้น 

          3) กรณีศึกษาของ Centrelink, Service Canada and Service BC ผลการสำรวจและประเมินการให้บริการประชาชนของ Centrelink, Service Canada and Service BC พบว่า ประชาชนพึงพอใจการทำงานของ Centrelink, Service Canada and Service BC ร้อยละ 85.7 ในเดือนกรกฎาคม ปี 2008 และมีความพึงพอใจในการทำงานขององค์กรนี้ ร้อยละ 90.5 ในเดือนมกราคม ปี 2010 

alt    alt    alt
          หลังจากการประชุมอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ทุกส่วนราชการทั้ง 14 หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการประชุม ประมวลผลและเขียนแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ เพื่อนำเสนอพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากวิทยากร ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดย กรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ Dr. Marson กล่าวชื่นชมว่า มีการนำเสนอที่ดี เนื่องจากมีการนำกระบวนการ How we get there มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของหน่วยงานแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และนำเอาข้อคิดเห็นนั้น มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการให้บริการ และสร้างจุดแข็งในการให้บริการขององค์กร โดย Dr. Marson ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่าการให้บริการแบบ One stop service ว่ามิใช่แค่เป็นการบริการที่ใช้เวลาน้อย แต่จุดประสงค์หลักคือ ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการที่มีต่อการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ
        alt
          วันที่ 2 ตุลาคม 2556 บรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวโน้มการจัดการภาครัฐโดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในกระแสโลก”  โดยสรุปแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ 

        หัวข้อที่ 1 แนวโน้มและความท้าทายของระบบราชการในการบริหารงานในโลกปัจจุบัน โดยกล่าวว่า จากรายงานเรื่อง “การปฏิรูประบบราชการ” ของธนาคารโลกสรุปว่า ภาครัฐเป็นตัวแสดงหลักในaltการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายและสร้างบรรยากาศการลงทุนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น รัฐจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานให้สามารถจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความท้าทายของระบบราชการไทย ได้แก่ การเมือง เช่น ความไว้วางใจในระบบราชการ ความต้องการรับผิดชอบ การต่อต้านภาษี หลักธรรมาภิบาล การเพิ่มขึ้นของ NGO สังคม เช่น การลดความยากจน การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี เช่น การปฏิวัติของ ICT ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการผลิต และ เศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก การว่างงาน สภาวะการตลาด การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

        หัวข้อที่ 2 แนวโน้มการบริหารงานของระบบราชการในโลกปัจจุบัน การบริหารระบบราชการยุคใหม่ (New Public Management) เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารงานแบบเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงาน สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจและสร้างทางเลือกในการให้บริการที่หลากหลายขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้การบริหารงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

        หัวข้อที่ 3 การพัฒนานโยบายแบบประชาชนเป็นศูนย์กลางและการนำไปปฏิบัติ นั่นหมายถึง ภาครัฐต้องรับฟังความต้องการของประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน และรายงานผลการปฏิบัติงานให้ประชาชนทราบ หากข้าราชการให้บริการลูกค้าได้ดีจนสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ ข้าราชการก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานของตนและเป็นผลให้พนักงานปรับระดับการให้บริการดีขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน หากรัฐให้บริการประชาชนอย่างเป็นเลิศแล้ว ก็จะได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากภาคประชาชนเช่นกัน 

        หัวข้อที่ 4 การบริการแบบประชาชนเป็นศูนย์กลางในแคนาดาและประเทศอื่นๆ โดยได้ยกตัวอย่างรูปแบบการให้บริการแบบครบวงจรในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท ประกอบด้วย
        • การบริการด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น One –Stop Website, Information Counter, Call Referral Centers

        • การสร้างกลุ่มการบริการ คือ การรวมงานบริการที่อยู่ในประเภทเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกัน มาให้บริการแบบครบวงจร (One-stop Service) และ

        • การสร้างศูนย์กลางงานบริการ เช่น การสร้างห้างร้าน สำนักงาน เพื่อรวมการให้บริการทุกอย่างในสถานที่เดียว

alt     alt
        หลังจากนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ช่วงเช้า Dr. Brian Marson เข้าพบผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. ณ ห้องประชุมฝ่ายบริหาร ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สุทธปรีดา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ให้เกียรติต้อนรับพร้อมกล่าวขอบคุณวิทยากร ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาแนวทางการปรับปรุงบริการรวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะการปรับปรุงบริการทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ

        นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ตลอดระยะเวลา 5 วันที่ผ่านมาแล้ว Dr. Brian Marson พร้อมทีมงานจากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ยังได้เข้าเยี่ยมชมและดูงานการนำระบบไอทีมาใช้บริการประชาชนรูปแบบใหม่ของ กรมการขนส่งทางบก (เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556) และรับฟังผลการดำเนินงานของ OSCC (One Stop Crisis Center) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เกี่ยวกับเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ณ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556) ทั้งนี้ Dr. Brian Marson ได้ให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ต่องานบริการของทั้งสองหน่วยงานด้วย

alt      alt

alt      alt
          ประโยชน์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการให้บริการของหน่วยงาน ให้สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการของหน่วยงานภาครัฐไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป


alt


กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว&ภาพ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ

 

 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th