ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ตรวจประเมินยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ
กลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาระบบราชการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ลงพื้นที่ตรวจประเมินยืนยันผลการดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการของจังหวัดที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยม จำนวน 6 หน่วยงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 9-22 ตุลาคม 2556
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พัฒนาระบบราชการ ปรับปรุงการบริการของภาครัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบราชการไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยจัดให้มีการมอบรางวัล
“ความเป็นเลิศด้านการบริการราชการแบบมีส่วนร่วม” ประจำปี 2556 ขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการ และเชิดชูผลงานของส่วนราชการที่เป็นต้นแบบที่ดีในด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเพื่อพัฒนาระบบบริหารราชการที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการ โดยได้พัฒนาและจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการทั้งในส่วนของราชการ และจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย
3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ มิติที่ 2 กระบวนการมีส่วนร่วมที่เอื้ออำนวย และมิติที่ 3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน
ทั้งนี้ รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการและจังหวัดที่มีผลการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการเป็นเลิศ
ประกอบด้วย 3 ระดับรางวัลได้แก่ 1) รางวัลระดับดีเยี่ยม (Excellent) มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยมในทุกมิติเป็นที่ประจักษ์ มีความโดดเด่นและน่าสนใจในทุกมิติ รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานอื่นได้ ซึ่งต้องมีคะแนนประเมินผลการดำเนินงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
2) รางวัลระดับดี (Good) มีผลการดำเนินงานดีในทุกมิติ และเป็นผลการดำเนินงานที่สูงกว่ามาตรฐานได้ แต่ไม่ถึงระดับดีเยี่ยม ซึ่งต้องมีคะแนนประเมินผลการดำเนินงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่เกินร้อยละ 90
3) รางวัลชมเชย/รางวัลมาตรฐาน (Standard) มีผลการดำเนินงานในระดับมาตรฐานในทุกมิติ และเป็นผลการดำเนินงานที่ยอมรับได้ ซึ่งต้องมีคะแนนประเมินผลการดำเนินงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ไม่เกินร้อยละ 80
โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการดำเนินการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการของส่วนราชการ ประกอบด้วย 3 มิติ รวม 16 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
มิติที่ 1: ความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ (5 ตัวชี้วัด)
มิติที่ 2: กระบวนการมีส่วนร่วมที่เอื้ออำนวย (6 ตัวชี้วัด)
มิติที่ 3: การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน (5 ตัวชี้วัด)
รายละเอียดการประเมิน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การประเมินจากใบสมัครและเอกสารประกอบ
ขั้นตอนที่ 2 การตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณากลั่นกรองผลการตรวจประเมินเบื้องต้น
ขั้นตอนที่ 4 การตรวจประเมินเพื่อยืนยันผล
ขั้นตอนที่ 5 เสนอ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณา
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 4 การตรวจประเมินเพื่อยืนยันผล โดยมีส่วนราชการที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยมจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมปศุสัตว์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทางหลวงชนบท กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมและผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ.ร.จะลงพื้นที่ในการตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลฯ ทั้ง 6 หน่วยงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 9-22 ตุลาคม 2556
ตัวอย่างโครงการต้นแบบ 6 หน่วยงาน |
สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอโครงการต้นแบบ และมีการถอดบทเรียนคือ
โครงการปรับปรุงคุณภาพแหล่งน้ำของแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และคูคลองสาขา สำหรับผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้รับ“รางวัลระดับดีเยี่ยม”เนื่องจากผู้บริหารของหน่วยงานให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมระดับภาค มีการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชน/เครือข่ายประชาสังคม หรือเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลดังกล่าวให้ทันสมัย และถูกต้องอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 ตำบลท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก กรมปศุสัตว์ได้นำเสนอโครงการต้นแบบคือ
โครงการเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีได้รับ“รางวัลระดับดีเยี่ยม”เนื่องจาก ยุทธศาสตร์ของส่วนราชการและนโยบายของผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ที่ให้ความสำคัญและได้ใช้แนวทางการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนเสมือนเป็นภารกิจปกติที่ดำเนินการเป็นงานประจำ อีกทั้งกรมปศุสัตว์มีการวิเคราะห์กระบวนการในขั้นตอนต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมถึงมีการประเมินผลความพึงพอใจของเครือข่ายประชาชนต่อการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของกรมปศุสัตว์
สถานีตำรวจภูธรกะทู้ จังหวัดภูเก็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำเสนอโครงการต้นแบบคือ
โครงการป่าตองเซฟตี้โซน (Patong Safety Zone) ได้รับ “รางวัลระดับดีเยี่ยม” ทั้งนี้ เนื่องจากยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน รวมทั้งนโยบายของผู้บริหารสำนักงานตำรวจ ที่มุ่งเน้นในด้านมวลชนสัมพันธ์ มีการสร้างเครือข่ายในการช่วยปฏิบัติราชการ ด้วยแนวคิดในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงาน โดยได้มีการกำหนดให้มีการจัดทำแผนรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) มีสถานีตำรวจภูธรกระทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่อง รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือร่วมใจ ระหว่างภาครัฐ เอกชน ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ รวมถึงประชาชนในป่าตอง และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายช่วยดำเนินการ เฝ้าระวังในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการต้นแบบคือ
โครงการอาสาสมัครทางหลวงชนบท ได้รับ “รางวัลระดับดีเยี่ยม” เนื่องจากสภาพปัญหา เดิม ชุมชนมีการร้องเรียนสภาพพื้นผิวจราจรมีการชำรุดบ่อยมาก กรมทางหลวงชนบท จึงได้ดำเนินโครงการอาสาสมัครทางหลวงชนบท ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบทางหลวงชนบทในทุกๆ จังหวัด โดยเมื่อมีการแจ้งข้อมูลการชำรุดเสียหายของพื้นผิวจราจร กรมฯ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไข ซ่อมแซมและจัดทำแผนสนับสนุนงบประมาณการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ ทำให้การร้องเรียนของชุมชนลดน้อยลง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนเสมือนเป็นภารกิจประจำของส่วนราชการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายที่เห็นชัดเป็นรูปธรรม
กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอโครงการต้นแบบคือ
โครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ต้องขัง (Call Center) (ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ถนนเลียบคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี) ได้รับ “รางวัลระดับดีเยี่ยม” เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ด้วยยุทธศาสตร์ขององค์กร และนโยบายของผู้บริหาร ที่ส่งเสริมการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ โดยกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ บริษัท เทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน) จัดฝึกอบรมวิชาชีพด้านการสื่อสารให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นระยะเวลา 30 วัน มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย Call Center 1188
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอโครงการต้นแบบคือ
โครงการเสริมสร้างความรู้สู้ภัยน้ำมันทอดซ้ำ รู้ทันโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ได้รับ “รางวัลระดับดีเยี่ยม” เนื่องจากมีการใช้แนวทางการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายในการทำงานร่วมกับภาครัฐที่เข้มแข็งจากสภาพปัญหา เดิมคือ ประชาชนและร้านค้าใช้น้ำมันทอดซ้ำอันเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตบางราย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือ นักเรียนและประชาชนได้รับรู้ถึงพิษภัยของการใช้น้ำมันทอดซ้ำ รู้วิธีการตรวจสอบน้ำมันทอดซ้ำและสามารถนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปผลิตพลังงานไบโอดีเซล ทำให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้น
ภายหลังจากตรวจประเมินฯ อย่างเข้มข้นทั้ง 6 หน่วยงานแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ จะนำข้อมูลเสนอ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมพิจารณาให้รางวัลฯ ดังกล่าวในลำดับต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / รายงาน
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ