Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้  

ข่าวเด่น


จัดสัมมนารับฟังความเห็นหนุนภาคประชาสังคม/ชุมชนร่วมดำเนินการจัดบริการสาธารณะ




          alt

alt          เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรอบภารกิจในการจัดบริการสาธารณะที่มีความเหมาะสมและสามารถถ่ายโอนให้ภาคประชาสังคม/ชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทนหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมให้เกียรติเป็นประธาน ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ

          โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะ (ร่าง)alt กรอบภารกิจในการจัดบริการสาธารณะที่มีความเหมาะสมในการถ่ายโอนให้ภาคประชาสังคม/ชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในช่วงแรก คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลพร สอนศรี นักวิจัย และอาจารย์ ชาย ไชยชิต นักวิจัย ได้มีการนำเสนอ(ร่าง) กรอบภารกิจฯ ดังกล่าว โดยมีการวิเคราะห์สภาพความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการนำกลไกการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม/ชุมชนในการจัดบริการสาธารณะ ในหลายๆ ปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านกฎหมาย ด้านนโยบาย การปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐ และการเติบโตและขยายตัวของภาคประชาสังคม โดยมีกรอบการศึกษาวิเคราะห์ ใน 3 ประเด็นคือ 

          • การวิเคราะห์ภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ
          • การวิเคราะห์รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม/ชุมชน
          • การวิเคราะห์ความต้องการ ศักยภาพและความพร้อมขององค์กรภาคประชาสังคม/ชุมชน

          นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความต้องการของภาคประชาสังคม/ชุมชนในการเข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินการ หรือดำเนินการแทนภาครัฐ รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทในการจัดทำบริการสาธารณะ จนกระทั่งได้(ร่าง) กรอบกรอบภารกิจในการจัดบริการสาธารณะที่มีความเหมาะสมในการถ่ายโอนให้ภาคประชาสังคม/ชุมชน นำมาสู่การจัดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
       alt 
            หลังจากนั้น นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิได้อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะ นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ประธาน อ.ก.พ.ร. กล่าวว่า “ภาคประชาสังคมนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ชุมชนต่างๆ ที่รวมตัวกันทำประโยชน์ให้กับสังคม ไปจนถึงมูลนิธิ สมาคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การถ่ายโอนภารกิจไปยังภาค ประชาสังคมจะช่วยเพิ่มความชำนาญเพิ่มบทบาทให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ตัวอย่างภารกิจหนึ่งที่ภาคประชาสังคมมีความถนัดก็คือ การเป็นนักสังคมสงเคราะห์ การรวมกลุ่มผู้มีจิตอาสา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอยู่แล้ว

           ภาคประชาสังคมถือเป็นตัวแทนของภาคประชาชน แต่อาจจะต้องมีการจดแจ้งลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับส่วนราชการได้ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและการผ่องถ่ายงานต่างๆ รวมทั้งยังทำให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินการดังกล่าว” 

           ด้านนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป กล่าวว่า “เรื่องของการถ่ายโอนงานบางอย่างให้ ภาคประชาสังคมดำเนินการนั้น จะทำให้ภาคประชาสังคมมีบทบาท มีความเข้มแข็งขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การดำเนินการต่อจากนี้ไป อาจจะต้องมีการออกแบบกฎหมายข้อบังคับ หรือระเบียบต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อ การดำเนินการ ภาคประชาสังคมนั้น บางองค์กรเป็นนิติบุคคลแต่บางองค์กรไม่เป็นนิติบุคคล ถ้าเราใช้องค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคลเราจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับ การจดแจ้งหรือจดทะเบียน อาจจะต้องมีการแบ่งประเภทเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของสุขภาพ เรื่องของผู้พิการ ฯลฯ และเมื่อจดทะเบียนแล้ว ก็ต้องมีการปฐมนิเทศเพื่อทำความเข้าใจ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และที่สำคัญคือ ในขั้นตอนของการตรวจรับงานจะต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ ซึ่งจะต้องออกแบบให้มีความเหมาะสมต่อไป” 

            หลังจากนั้นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนส่วนราชการ/ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมกันแสดง ความคิดเห็น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน เช่น องค์กรภาคประชาสังคม/ชุมชนควรมีบทบาทร่วมกันในการกำหนดร่างกรอบแนวนโยบายของรัฐด้วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมใน การรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจกรรมตามแนวนโยบายนั้นๆ 

            การยื่นข้อเสนอโครงการของภาคประชาสังคม/ชุมชน หน่วยงานภาครัฐควรให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอโครงการ (TOR) ที่ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคม/ชุมชนส่วนใหญ่มักไม่มีบุคลากรที่ทำงานประจำเพื่อดำเนินงานธุรการ งานอำนวยการต่างๆ เพราะบุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคม/ชุมชนโดยธรรมชาติมักทำงานตามประเด็นปัญหา เกาะติดสถานการณ์หรือสภาพปัญหานั้นๆ ตามเป้าหมายหลักของแต่ละองค์กร ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอโครงการหรือความรู้ในการอำนวยการให้ได้มาซึ่ง การเป็นหน่วยรับดำเนินภารกิจแทนหรือร่วมดำเนินการกับภาครัฐนั้น จำเป็นต้องให้ภาครัฐสนับสนุนความรู้ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

           ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่างๆ ทางผู้วิจัยได้นำมาสรุปผลแล้วนำไปปรับปรุงในข้อเสนอรายการภารกิจ/กิจกรรมที่เหมาะสมและสามารถให้ภาคประชาสังคม/ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะร่วมหรือดำเนินการแทนหน่วยงานภาครัฐต่อไป


altaltalt
altaltalt
altaltalt


กลุ่มสือสารฯ (สลธ.) / ข่าว&ภาพ
นฤมล (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ

 

 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th