เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการประชุมของผู้เข้าอบรมในหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (สำหรับปลัดกระทรวงและอธิบดี) ป.ย.ป. 1 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ แนวทาง และเป้าหมายในหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผล
การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Strategic thinking session) ต่อรองนายกรัฐมนตรีในประเด็นการพัฒนาและเตรียมคน สู่ศตวรรษ ที่ 21 โดยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประเด็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยการประชุมในวันนี้ สืบเนื่องมาจากที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา อุปสรรคของการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญต่าง ๆ ของรัฐบาล จนนำไปสู่การจัดหลักสูตร “การบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบ
การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดหลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (สำหรับปลัดกระทรวง /อธิบดี) ป.ย.ป. 1 จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างปลัดกระทรวง
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินรีย์) เป็นประธาน ในที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดประเด็นสำคัญ จำนวน 2 เรื่อง เพื่อเป็นหัวข้อในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Strategic thinking session) ของปลัดกระทรวง /อธิบดี
โดยในวันนี้สามารถสรุปผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบของ Quick Win หรือ แผนปฏิบัติการเร่งรัดแล้วได้ใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นการพัฒนาและเตรียมคนสู่ศตวรรษ ที่ 21 มีสาระสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างการเรียนรู้โลกอาชีพ ในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น การสนับสนุนสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ การสร้าง Excellent Model School 58 แห่ง การพัฒนา 21st Century Skill การพัฒนาแรงงานนอกระบบ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า OTOP การส่งเสริมการมีงานทำทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน (กลุ่ม Elderly) และการพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถใน
การแข่งขัน
สำหรับประเด็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐมีสาระสำคัญ ได้แก่ การพัฒนากรอบความคิดเชิงบูรณาการของบุคลากรภาครัฐ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล
ของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล การพัฒนาระบบการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ (Linkage Center)
การพัฒนาศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) การบริหารจัดการข้อมูลใหญ่ (Big Data) และสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Citizen Co-Creation) จากข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) การบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ การส่งเสริมนวัตกรรมภาครัฐ และการบูรณาการแหล่งน้ำในรูปแบบประชารัฐ
ภายหลังการนำเสนอผลฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิรูปประเทศ โดยกล่าวว่า การนำเสนอผลการประชุมในวันนี้ท้ายสุดจะนำไปสู่การปฏิรูปและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยเมื่อพิจารณาดูแล้วนั้นจะพบว่า สิ่งที่ป.ย.ป. 1 ได้นำเสนอนั้นสอดคล้องกับยุทธศาสต์ชาติด้านที่ 2 คือ การพัฒนาคน การเตรียมคนไปสู่อนาคต โดยชี้ให้เห็นว่าการศึกษานั้นจะช่วยสร้างคนและพัฒนาคน รวมทั้งการเพิ่มทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และการรักษาวินัย ทั้งนี้เพื่อผลักดันการพัฒนาศักยภาพของคน และยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 6 คือ ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ โดยทั้งสองด้านนี้จะต้องนำมาพิจารณาว่าจะสามารถขยายการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และจะส่งมอบการดำเนินงานตามสิ่งที่ ป.ย.ป. 1 เสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้อง หน่วยงานใดบ้าง และพิจารณาว่ามีกฏหมายหรือพระราชบัญญัติใดบ้างที่ควรปรับแก้ หรือควรเสนอขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยขับเคลื่อน
การดำเนินงานให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ได้ระบุว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูป การวางยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามว่ามีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์หรือไม่ รวมทั้งได้กล่าวถึงมาตรการใน
การบริหารจัดการภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ และท้ายสุดได้กล่าวถึงอุปสรรคของการบริหารจัดการภาครัฐไว้ทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ การขาดบุคคลากร การขาดอำนาจ และกฏหมาย การขาดงบประมาณ การขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยี และ
การขาดความรับรู้และความเข้าใจ โดยระบุว่าการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญ ต่อให้มีเงินมีคนมีอำนาจตามกฏหมาย แต่ถ้าประชาชนไม่มีความรับรู้ความเข้าใจก็ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารจัดการภาครัฐ