ข่าวเด่น
สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนา การเตรียมระบบราชการไทยรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ขณะที่กลุ่มที่ 2 เข้าศึกษาดูงานสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายศักดิ์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ จากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ “ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการค้าอาเซียน” โดยนายวิศณุ วัชราวนิช นักวิชาการศุลกากรชำนาญการกล่าวว่า “สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เดิมถูกตั้งขึ้นเป็นด่านศุลกากรเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตามแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภาคตะวันออกและโครงการท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังตามกฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2545 โดยมีหน้าที่หลัก 3 เรื่อง คือ การจัดเก็บรายได้ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการส่งออก และการป้องกันและปราบปราม (การควบคุมทางศุลกากร) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มุ่งเน้นบทบาทหลัก เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์และสร้างความสมดุลโดยการดำเนินมาตรการต่างๆ คือ 1) นำระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยการอำนวยความสะดวกให้กับสินค้าและผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ และมุ่งควบคุมตรวจสอบเฉพาะสินค้าและผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยมี Profile เป็นเครื่องมือกำหนดเงื่อนไขในระบบ e-Customs 2) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการข่าว โดยการจัดเก็บข้อมูลประวัติการกระทำความผิด รวมทั้งการติดตามความเคลื่อนไหว และแนวโน้มการกระทำความผิด 3) การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในอำนวยความสะดวกรวดเร็วในพิธีการและตรวจปล่อย
สินค้าขาเข้าและขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์, การนำระบบเอกซเรย์มาใช้ในการตรวจสอบสินค้าแทนการเปิดตรวจทางกายภาพ, การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อการควบคุมทางศุลกากรและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน, การนำระบบRadio Frequency Identification (RFID) และ Electronic Seal มาใช้ในการควบคุมการขนส่ง แทนการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่, การใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องตรวจจับวิถีเลเซอร์ และกล้องไฟเบอร์ออฟติก เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากรไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา คือ โครงการ CSI (Container Security Initiative) ว่าด้วยความปลอดภัยของตู้สินค้ามาใช้รวมกัน ณ ท่าเรือแหลมฉบังและโครงการความริเริ่มในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางการขนส่งตู้สินค้า ณ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ทั่วโลก สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง นับว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับระบบวิธีการทำงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นางสาวขนิษฐา สุดกังวาล ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ความสรุปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบราชการไทยเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้ง ประสานพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกันของกลุ่มพัฒนาระบบบริหารในการส่งเสริมและยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ อันจะนำไปสู่การสร้างความพร้อมของระบบราชการไทยให้สามารถแข่งขันและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ละกระทรวง/กรม จะมีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง และมีกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพหลัก อย่างเช่น กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งได้พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการนำเข้า-ส่งออกเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียว หรือที่เรียกว่า National Single Window และมีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนประสานความร่วมมือช่วยกันพัฒนา เป็นต้น ในครั้งนี้จึงเลือกมาศึกษาดูงานสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นการเชื่อมโยงไทยสู่อาเซียนในด้านการนำเข้า-ส่งออก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาคราชการเป็นกำลังสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ยิ่งดีขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้
ต่อจากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “รางวัล Thailand Quality Award (TQA) ของศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน)” โดยนางวาสนา ศรีเจริญ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและสนับสนุนปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กล่าวว่า“งานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบริษัท การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานเดียวของไทยที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติมอบให้แก่องค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ เปี่ยมด้วยคุณภาพและศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานโลกโดยมีเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ 7 ประการ ได้แก่ 1) รู้ตัวเอง 2) วางแผน 3) กำหนดตลาดและลูกค้า 4) กำหนดวิธีการดำเนินการ การวัดและการควบคุม 5) การจัดการทรัพยากรและคน 6) ทบทวน เกิดการเรียนรู้ ปรับปรุงแบบก้าวกระโดด และ 7) นำอย่างยอดเยี่ยม ทั้งนี้ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเกี่ยวข้องกับการพิจารณา 7 หมวดด้วยกัน คือ การนำองค์กร, การวางแผนเชิงกลยุทธ์, การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด, การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้, การมุ่งเน้นบุคลากร,การจัดการกระบวนการ และผลลัพธ์ซึ่งทั้ง 7 เกณฑ์การบริหารจัดการมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และนำไปปฏิบัติกว่า 70 ประเทศทั่วโลกโดยมีขั้นตอนสู่ความเป็นเลิศตาม TQA 4 ประการ ได้แก่ การสร้างระบบงาน (Approach) จัดให้มีขั้นตอนการทำงาน ให้มีผู้รับผิดชอบในขั้นตอนเรื่องต่างๆ กำหนดเวลาของการทำที่แน่นอน และกำหนดตัววัดความสำเร็จของงาน, นำไปใช้-ปฏิบัติ (Deploy) จัดให้มีผู้รับผิดชอบกระจายไปสู่การปฏิบัติ กำหนดผู้ที่จะปฏิบัติ และให้มีการรายงานผลการปฏิบัติ, ให้มีการเรียนรู้ (Learning) มีการเก็บข้อมูล ผลการปฏิบัติ มีการทบทวนผลการปฏิบัติและระบบงาน, ต้องเชื่อมโยงข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันของเรื่องต่างๆ (Integration) ต้องวางระบบ จัดให้มีการนำข้อมูลมาใช้ร่วมกัน ต่อกัน เพื่อประโยชน์ของการบริหารจัดการ จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ได้รับประโยชน์ในการ DEFINE ขอบเขตงาน คือ สามารถใช้พิจารณากำหนด Key Process ส่งเสริม สร้าง Competency ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรอบในการสร้างองค์ความรู้ สร้าง Innovation ตลอดจนด้านการบริหารจัดการคน”
ต่อจากนั้น นายวัชรพงษ์ จาววุ่งวณิชสกุล รักษาการผู้อำนวยการกองกฎหมายฯ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งของหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สรุปได้ว่า การแบ่งส่วนราชการของกรมตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ กำหนดไว้ในมาตรา 31 โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง (สำนัก ศูนย์) และวรรคสอง คือส่วนราชการนอกจาก (1) (2) ได้แก่ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มวิชาการ และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นส่วนราชการระดับเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม และกลุ่มพัฒนาระบบบริหารมีหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา 33 วรรคสอง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารจึงเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม และเมื่อ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในมาตรา 45 (2) กำหนดตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ต่ำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่ากรม ดังนั้น หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารจึงควรเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ซึ่ง สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการผลักดันให้หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบราชการเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการมาโดยตลอด
วันต่อมา ในช่วงเช้า คณะสัมมนารับฟังการบรรยายเรื่อง “การค้าการพัฒนาชายแดนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดย นายอิสิวุฒิ ตั้งเกียรติ นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน (ไทย กัมพูชา เวียดนาม) กล่าวว่า “การค้าชายแดนนับว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคการผลิต เป็นแหล่งในการระบายสินค้าเกรดสองและเกรดสามที่ผลิตภายในประเทศ หรือแม้แต่เป็นแหล่งรับซื้อผลไม้ขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการพยุงราคาผลผลิตในท้องตลาด ในอนาคตหลังจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบการค้าและระบบเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด มีทั้งโอกาสที่ดีต่อภาคธุรกิจและอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภทที่ยังปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายให้มีความทันสมัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน ซึ่งอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆใน ASEAN ที่เหมาะสมกว่า และสิ่งที่จะต้องคำนึงต่อไปคือ เราจะมีกระบวนการในการปรับตัวอย่างไร เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามของประเทศ”
ช่วงสุดท้าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการศึกษาดูงานของกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ตามลำดับ กลุ่มที่ 1 รายงานผลการเข้าศึกษาดูงานบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัดว่า “ประวัติบริษัท SCG Chemical เป็น 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจของ SCG Group ก่อตั้งเมื่อปี 1983 ใช้หลักการบริหารจัดการ Rotation for leverage competency, Get Feed Back from all customers, Proactive approach, Empowerment (Trust) ปรับปรุงทบทวนตรวจสอบและยอมรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ มีการเตรียมระบบการบริหารจัดการและการทำงานเพื่อรองรับการเรียนรู้ประชาคมอาเซียนโดยการรวมแบรนด์เป็น SCG เพื่อก้าวสู่ระดับสากล ด้วยการยกระดับ competency รับฟังข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสร้าง Innovation ด้วยการทำวิจัยและพัฒนา R&D เพื่อสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเน้นการพัฒนาคน โดยมองว่าคนเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด เพื่อมุ่งไปสู่ TQM”
กลุ่มที่ 2 รายงานการเข้าศึกษาดูงานสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังว่า เมื่อปี พ.ศ. 2545 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังตามกฎกระทรวงการคลัง โดยมีหน้าที่หลัก คือ จัดเก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า-ขาออก สนับสนุนช่วยเหลือการค้าระหว่างประเทศและอำนวยความสะดวกของการค้า รวมทั้งการควบคุมทางศุลกากร ซึ่งสำนักงานฯ ได้นำระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการตรวจสอบประวัติของผู้ประกอบการรวมสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงโดยจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการทำงาน นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้เตรียมระบบการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น E-custom ระบบ National single window และดำเนินการเรื่อง One stop service ในด่านศุลกากรชายแดน
ประโยชน์จากการศึกษาดูงานและประชุมสัมมนาครั้งนี้จะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพการดําเนินงาน และเตรียมความพร้อมระบบราชการไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. & กองเผยแพร่ฯ / ภาพ & ข่าว
ผอ.กิตติยา / ตรวจ
ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ