Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ส่วนราชการ / สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ข้อมูลทั่วไป

วิสัยทัศน์
องค์กรนำในการเสนอแนะนโยบายเศรษฐกิจการคลังในเชิงรุกอย่างมีหลักการ


พันธกิจหรือหน้าที่ตามกฎหมาย
1.1 ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะนโยบายเศรษฐกิจ ด้านการคลัง การเงิน การออม การลงทุน การพัฒนาตลาดทุน และการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน รวมทั้งเศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ
1.2 ติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจพร้อมเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไข
1.3 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในนโยบายและผลงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน และหน่วยงานทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
1.4 พัฒนาระบบบริหารจัดการให้ทันสมัยและส่งเสริมคุณภาพบุคลากรด้านวิชาการและคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง


เป้าประสงค์หลัก
1. เพื่อให้ภาคการคลังมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน
2. เพื่อให้ระบบการเงินมีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ
3. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลมีความถูกต้อง ทันสมัย น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ
5. เพื่อให้มีการยอมรับในการนำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการคลัง
6. เพื่อให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
7. เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล


ค่านิยมและวัฒนธรรมของส่วนราชการ
ส : เสนอแนะอย่างมีหลักการ หมายถึง การยึดมั่นในหลักวิชาการและจรรยาวิชาชีพในการเสนอแนะ
ออกแบบนโยบายเพื่อผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ศ : ศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง หมายถึง สนใจ ใฝ่รู้ และติดตามข่าวสาร ข้อมูล หรือความรู้เพิ่มเติม
ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
ค : คนคลังที่มีคุณภาพ หมายถึง เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานดี
ซื่อสัตย์ สุจริต ประพฤติดี ประพฤติชอบ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี


สถานที่ติดต่อ
กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 พญาไท กรุงเทพฯ เบอร์โทร0 2-273- 9020, 0 2-278 -3733 Fax 0 2-273 -9168http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php
โทร. 02-273- 9020   โทรสาร 02-273 -9168
http://www.fpo.go.th


อำนาจหน้าที่
1. พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475
กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีของทรัพย์สิน 2 ประเภท คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ และที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ โดยให้บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น
2. พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
กำหนดให้มีการควบคุมจำกัดหรือห้ามการปฏิบัติกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินหรือการอื่น ซึ่งมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าในรูปแบบใด และเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบส่งหรือนำเงินตราไทยออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทางราชการไม่สามารถริบเงินตราไทยจากบุคคล ที่ได้ทำการลักลอบนั้นได้ จึงกำหนดให้เงินตราไทย รวมทั้งเงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ และหลักทรัพย์ทั้งของไทยและต่างประเทศเป็น “ของ” ตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
3. พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485
จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในการดำเนินการอันเกี่ยวข้องกับการเงินและกิจการธนาคารต่างๆ ที่เป็นของรัฐ ประกอบธุรกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องเงินสำรอง มีหน้าที่ในการออกธนบัตร จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
4. พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พุทธศักราช 2489
จัดตั้งธนาคารออมสินเพื่อเป็นสถาบันการเงินส่งเสริมการออมของประชาชน เพื่อสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว
5. พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491
เป็นการกำหนดการจัดระเบียบเงินแผ่นดินว่าด้วยเงินคงคลังให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยการกำหนดข้อบังคับในการรับ/จ่ายเงินคงคลัง รวมถึงข้อบังคับในการบริหารเงิน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ มากยิ่งขึ้น
6. พระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494
เนื่องจากรัฐบาลและองค์การของรัฐบาล เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เจรจากู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อนำมาใช้จ่ายลงทุนในพัฒนาการทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของประเทศ บางรายก็เจรจาเป็นผลสำเร็จแล้ว เช่น การรถไฟฯ ในการนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายใช้บังคับเป็นการย้อนหลังให้รัฐบาลดำเนินการได้โดยประจักษ์ชัดแจ้งขึ้น เพื่อให้รัฐบาลถือประโยชน์ในฐานะเป็นสมาชิกธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา ทำการกู้เงินหรือค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารดังกล่าว
7. พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496
จัดตั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อให้บริการเงินกู้แก่ประชาชนเพื่อช่วยเหลือให้มีที่อยู่อาศัย
เป็นของตนเอง
8. พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
กำหนดหลักเกณฑ์การนำออกใช้ การถอนคืนเหรียญกษาปณ์และธนบัตร กำหนดการดำรงค่าเงินบาท ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราขั้นสูงและอัตราขั้นต่ำสำหรับการซื้อหรือขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศ รวมถึงกำหนด ให้มีทุนสำรองเงินตรา หลักเกณฑ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทุนสำรอง การจัดการบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ และบัญชีสำรองพิเศษ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตราและค่าเงินบาท
9. พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
เพื่อกำหนดให้รัฐบาลมีแผนการเงินประจำปีที่เหมาะสมสำหรับส่วนราชการทั้งหมด และให้มีการควบคุมงบประมาณอย่างรัดกุม ให้การจ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสม และให้มีการประมวลบัญชีและรายงานเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายทั้งสิ้นของแผ่นดิน
10. พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เสียเอง เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลรัษฎากรที่ได้บัญญัติให้กรมสรรพากรเป็นผู้ควบคุมจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แต่ให้กันไว้ต่างหาก เพื่อใช้จ่ายในการบำรุงท้องที่ในเขตท้องถิ่นนั้นๆ
11. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509
จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเกษตรของประเทศ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร การให้ความช่วยเหลือเช่นนั้นควรจัดขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในด้านเกษตรกรโดยตรงและในด้านกลุ่มเกษตรกรกับสหกรณ์การเกษตรการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ
12. พระราชบัญญัติให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงิน ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พ.ศ. 2514
กำหนดอำนาจและการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสมัครเข้าเป็นภาคีในบัญชีพิเศษถอนเงิน ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่แล้ว

13. พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523
ให้อำนาจแก่ทางราชการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราตามมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี เฉพาะในส่วนที่เป็นการให้กู้ยืม ของสถาบันการเงินได้ เนื่องจากภาวะการเงินของตลาดโลกและตลาดภายในประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก หากยังคงจำกัดดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมจะเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและทำให้ขาดความคล่องตัว ในการที่ทางราชการจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ในทางนโยบายการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ
14. พระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524
เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันการขายสินค้าในตลาดโลกด้วยวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ส่งสินค้าออก เป็นการลดภาระภาษีอากรทางอ้อมซึ่งมีอยู่ในต้นทุนการผลิตโดยการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้ และสมควร วางมาตรการระบบการชดเชยค่าภาษีอากรให้แก่ผู้ส่งสินค้าออกที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย ให้มีมาตรการรัดกุมและมีประสิทธิภาพ
15. พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ดังนั้น เพื่อให้การจัดการกองทุนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและหลักการเดียวกันกับ การจัดการกองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งเพื่อบรรเทาภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างและลูกจ้างให้น้อยลงและกำหนดให้การจัดการกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
16. พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534
จัดตั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมขนาดย่อม และส่งผลให้อุตสาหกรรมขนาดย่อมได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศยิ่งขึ้น อันจะมีผลส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้ขยายตัวไปสู่ชนบทเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานและการชะลอการอพยพของประชาชนเข้ากรุงเทพมหานคร
17. พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
การพัฒนาตลาดทุนของประเทศที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดรองซึ่งเป็นตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก แต่ยังขาดการพัฒนาตลาดแรกอันเป็นตลาดสำหรับหลักทรัพย์ออกใหม่ควบคู่กันไปด้วย ทำให้บทบาทที่สำคัญของตลาดรองในการเป็นตลาดที่สนับสนุนตลาดแรกไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาตลาดแรกได้กว้างขวางขึ้นและให้มีตราสารประเภทต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน นอกจากนี้โดยที่การควบคุมดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับตลาดทุนมีกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานทำให้การกำกับและพัฒนาตลาดทุน ขาดความเป็นเอกภาพ ทั้งยังขาดมาตรการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานที่เป็นศูนย์รวมในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
18. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ในปัจจุบันมีผู้ประสบภัยจากรถบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ทำให้ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่แน่นอนและทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว
19. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินและบริการด้านอื่น โดยให้มีอำนาจให้สินเชื่อ ให้บริการทางการเงินในรูปอื่น ค้ำประกันหนี้และรับประกัน ความเสี่ยง ตลอดจนให้มีอำนาจเข้าร่วมลงทุนหรือให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในกิจการใดๆ ในต่างประเทศ
20. พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี พ.ศ. 2543
ประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี ซึ่งกำหนดให้สถาบันประกันการลงทุนพหุภาคีเป็นนิติบุคคลและให้มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ โดยที่สถาบันและพนักงานของสถาบันจะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการดำเนินงานและการปฏิบัติงาน ของสถาบันในประเทศไทย
21. พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545
กำหนดให้การส่งข้อมูลและการแจ้งข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตและการขอรับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิก หรือผู้ใช้บริการจะต้องจัดทำเป็นหนังสือและต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้เป็นภาระแก่บริษัทข้อมูลเครดิตและไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยใช้วิธีการอื่นได้ และอัตราโทษทางอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวมีความรุนแรงเกินสมควร
22. พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวิสาหกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นฐานการผลิต จึงสมควรจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของประเทศได้อย่างเป็นระบบ โดยการให้บริการทางการเงิน เทคนิค การตลาด และการจัดการ
23. พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินและประกอบกิจการอื่นให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น ดำเนินธุรกิจทางการเงินที่ไม่ผูกพันกับดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งเสริมและสนับสนุนการระดมเงินออมและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
24. พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
เนื่องจากตลาดการเงินของประเทศไทยเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของโลก ความผันผวน ในอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ในตลาดการเงินของโลกซึ่งเกิดอยู่เสมอ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุนของประเทศไทย และทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนเผชิญกับ ความเสี่ยงว่าการลงทุนของตนจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ในปัจจุบันจึงได้มีการเริ่มใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ยและดัชนี กลุ่มหลักทรัพย์ตลอดจนสินค้าหรือตัวแปรอื่น แต่สถานภาพของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายรองรับ แนวทางการจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจน และทำให้การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น เพื่อให้แนวทางการจัดการเรื่องนี้เป็นไปอย่างชัดเจน อันจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน และทำให้รัฐสามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้
25. พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548
เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหนี้สาธารณะ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะที่กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับให้มีเอกภาพยิ่งขึ้น และให้มีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบการบริหารหนี้สาธารณะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมการก่อหนี้โดยรวมให้สอดคล้องกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ
26. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549

เป็นการกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละประเภท แหล่งที่มาของรายรับ อปท. การจัดทำแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. โดยสรุปสาระสำคัญคือ ให้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจระหว่างรัฐและ อปท. กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ ในการให้บริการสาธารณะของรัฐและ อปท. และระหว่าง อปท. ด้วยกันเอง และกำหนดการจัดเก็บภาษีอากร เงินอุดหนุนและรายได้อื่นให้แก่ อปท. รวมทั้งกำหนดเป้าหมายสัดส่วนรายได้ของ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล
27. พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550
ในปัจจุบันการประกอบธุรกิจประกันภัยได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย อีกทั้งยังมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้หลายหมื่นล้านบาท การประกอบธุรกิจประกันภัยจึงมีลักษณะเป็นธุรกรรมทางการเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และต่อผู้เอาประกันภัย แต่การกำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นธุรกรรมทางการเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง อีกทั้งกรมการประกันภัยมีฐานะเป็นส่วนราชการ จึงไม่มีความคล่องตัวและขาดความเป็นอิสระ ดังนั้น เพื่อให้การดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยและการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรให้มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่มีความอิสระและคล่องตัวในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ
28. พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550
เนื่องจากในปัจจุบันการระดมทุนเพื่อดำเนินธุรกรรมในตลาดทุนของประเทศไทยยังมีรูปแบบและวิธีการที่จำกัดทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุน จึงได้นำหลักกฎหมายเรื่องทรัสต์มาประยุกต์ใช้กับ การระดมทุนในตลาดทุน เพื่อเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่งที่จะทำให้ธุรกรรมในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
29. พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ได้บังคับใช้มานาน และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำกับดูแลบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตัวแทนประกัน และนายหน้าประกันในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัย ดังนั้น จึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสม
30. พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ได้บังคับใช้มานานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำกับดูแลบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตัวแทนประกัน และนายหน้าประกันในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัย ดังนั้น จึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสม
31. พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
ในปัจจุบันการคุ้มครองเงินฝากเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้รัฐบาลคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินเต็มจำนวน ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นผลให้เกิดภาระทางการคลังแก่รัฐมากเกินไป อีกทั้งยังไม่มีกลไกดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐ จึงได้นำระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินมาใช้ พร้อมทั้งกำหนดกลไกต่างๆในการคุ้มครองเงินฝากอย่างเป็นระบบซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงินอันจะเป็นการสนับสนุนการออมเงินในประเทศ และเสริมสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม
32. พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551
ระบบการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือการทำสัญญาต่างตอบแทนอื่นใดในปัจจุบัน ดำเนินการโดยอาศัยความน่าเชื่อถือระหว่างคู่สัญญาเป็นหลักในการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาจะทำให้ระบบการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือการทำสัญญาต่างตอบแทนเกิดความเสี่ยงหรือหยุดชะงักอันส่งผลกระทบต่อคู่สัญญาและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่สัญญาและสร้างความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสมควรให้มีคนกลางที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือเพื่อทำหน้าที่ดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
33. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551
เนื่องจากในปัจจุบันการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี จึงทำให้การกำกับดูแลแตกต่างกัน แต่โดยที่การดำเนินกิจการของสถาบันการเงินควรมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอันมีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงิน และกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ฝากเงินที่มีต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม ดังนั้น สมควรปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และรวมเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้การควบคุมดูแลเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
34. พระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540
จัดตั้งองค์การของรัฐเพื่อพัฒนาตลาดรองการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยนำหลักการของ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์มาใช้ เพื่อให้สามารถระดมทุนสำหรับขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากเพียงพอและสม่ำเสมอ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
35. พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541
โดยที่สถาบันการเงินในปัจจุบันมีปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นจำนวนมากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินและกระทบกระเทือนต่อความสามารถในการให้สินเชื่อในภาคเศรษฐกิจ ฉะนั้น เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงมีการแยกสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกมาแล้วขายหรือโอนให้แก่นิติบุคคลอื่นเพื่อบริหารสินทรัพย์นั้นต่อไป และเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลดังกล่าวสมควรกำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านค่าธรรมเนียมและภาษีบรรดาที่เกิดขึ้นจากการขายหรือการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินมาให้นิติบุคคล รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ จึงมีกฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์ ที่นิติบุคคลนั้นจะได้รับ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
36. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541
เพื่อให้มีการจัดการเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุน อย่างเป็นระบบ จึงมีการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุน โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนและกำหนดวิธีการจัดการเกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้ให้ชัดเจน โปร่งใสและ เป็นประโยชน์โดยรวมมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดภาระการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐและแก้ไขการบิดเบือนในตลาดการเงินในประเทศ ตลอดจนทำให้อัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปลดลง อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นใจของ นักลงทุนจากต่างประเทศได้ทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติ ทางเศรษฐกิจ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
37. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541
โดยที่ระบบสถาบันการเงินของประเทศในปัจจุบันประสบปัญหาการเพิ่มทุนและมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนมาก ทำให้ระบบสถาบันการเงินขาดความมั่นคงและไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้เต็มที่ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มทุนในสถาบันการเงินต่างๆ เป็นการเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

38. พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544
เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ทำให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินไม่สามารถชำระสินเชื่อที่ตนมีกับสถาบันการเงินได้ และสินเชื่อเหล่านี้ ได้กลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่สถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก หากปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าต่อไป ฐานะของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงและกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้ เป็นการสมควรที่จะเร่งแก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยการรับโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดไว้ ทั้งนี้จะต้องพยายามให้ลูกหนี้ซึ่งรับโอนมาอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ที่ค้างชำระได้ และให้ลูกหนี้นั้นสามารถดำเนินกิจการของตนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หมดสิ้นลงหรือเหลือน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อันจะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินโดยรวม ซึ่งหากการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติล่าช้า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
39. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545
โดยที่ประเทศไทยได้ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา อันมีผลกระทบต่อความมั่นใจในสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ รัฐบาลในขณะนั้นและในเวลาต่อมาได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวและเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน อาทิเช่น การเสริมสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน การให้ประกันและความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน การเข้ารับชำระหนี้แทนสถาบันการเงิน การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินตลอดจนการเข้าดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินเป็นต้น ในการนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานซึ่งต้องรับผิดชอบและรับภาระทางการเงินในการดำเนินมาตรการดังกล่าวจนกระทั่งสถานะทางการเงินแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเกิดความเสียหายขึ้น และแม้ว่าจะได้มีการตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อชดใช้ความเสียหายและปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในวงเงินห้าแสนล้านบาทและรัฐบาลค้ำประกันแก่พันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งแสนหนึ่งหมื่น สองพันล้านบาท แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่หมดสิ้น สมควรกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง โดยกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ชำระคืนต้นเงินกู้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
40. พระราชกำหนดโอนสินทรัพย์บางส่วนในบัญชีสำรองพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา พ.ศ. 2545
เนื่องจากการที่ประเทศไทยประกาศใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อประโยชน์ในการดำรงไว้ซึ่งค่าของเงินบาทต้องประสบกับผลการดำเนินงานขาดทุนเป็นอันมากและเกิดผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น จนเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สมควรโอนสินทรัพย์บางส่วนในบัญชีสำรองพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่งแสนหกหมื่นห้าพันล้านบาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมและเสริมสร้างความมั่นคงของธนาคารแห่งประเทศไทย และเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
41. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2554
เนื่องจากมาตรา ๙๕ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติให้ยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเมื่อสิ้นปีที่สิบนับแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ และชำระบัญชี ให้แล้วเสร็จในเวลาไม่ช้ากว่าปีที่สิบสองนับแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ โดยให้นำมาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโดยอนุโลม และโดยที่มาตรา ๙๓ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้กำหนดให้การแต่งตั้งคณะกรรมการชำระบัญชี วิธีการชำระบัญชี ระยะเวลาการชำระบัญชี เงื่อนไขในการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของบรรษัทบ


คำรับรองการปฏิบัติราชการ

หมายเหตุ :

ข้อมูลปี 2557

http://www.opdc.go.th/uploads/files/result_peform/2557/government_57/C57_09.pdf

เข้าสู่ระบบ
Username  
Password  
 

    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th