มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2549

ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร.


          การประชุมคณะรัฐมนตรี       เมื่อวันอังคารที่  22  สิงหาคม  2549     ณ   ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี  ชั้น  2
ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้


เรื่องที่ 7

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 ไปพลางก่อน


            คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงบประมาณ      สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข
การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 ไปพลางก่อน
ดังนี้

          ตามที่พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้ง ทั่วไป พ.ศ.2549 ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่      อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2549 มีผลทำให้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2550 ประกาศใช้ บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2549     อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ  พ.ศ. 2550   ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2540  มาตรา  179      บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ   พ.ศ. 2502  มาตรา  16  บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่าย      ประจำปีงบประมาณ ที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี นั้น

           สำนักงบประมาณจึงได้เสนอ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 ไปพลางก่อน โดยมีหลักการและสาระสำคัญ ดังนี้

           1. ข้อบัญญัติแห่งกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนนั้น   เป็น มาตราการชั่วคราวให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณรายจ่าย         เพื่อให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนและประเทศชาติ ได้อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น  การใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549  ไปพลางก่อนจึงต้องเคร่งครัด ในหลักการ แต่ควรผ่อนคลายและยืดหยุ่นได้ในกรณีที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

           2. การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.  2549   ไปพลางก่อนนั้น   จำนวนเงินงบประมาณรายจ่าย ที่จะนำมาใช้จ่าย       ต้องเป็นส่วนหนึ่งของแผนงบประมาณ    และรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2549   และค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนและประเทศชาตินั้น   ต้องเป็นไปตามจำเป็น และเหมาะสม  รวมทั้งสอดคล้องกับระยะเวลา ตั้งแต่วันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2550   จนถึงวันประกาศใช้บังคับพระราช บัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550

           3. เนื่องจากระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดทำ   และอนุมัติพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ตามปฏิทินงบประมาณ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 คาดว่าจะใช้ระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน  โดยประมาณการว่าจะประกาศใช้บังคับได้ในเดือนมีนาคม  2550  นั้น  ค่อนข้างเร่งรัด   โดยเฉพาะใน ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของรัฐสภามีเวลาประมาณ  70  วัน     (ตามกฎหมายกำหนดให้เสร็จภายใน  125 วัน)   ซึ่งการ พิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ     (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา)   มีความเป็นอิสระ     และสามารถใช้เวลาตามที่กำหนดไว้ ในกฎหมายอย่างเต็มที่ และในทางปฏิบัติอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่กำหนดไว้ในปฏิทินงบประมาณรวมทั้งปฏิทิน งบประมาณดังกล่าว ยังมิได้รวมขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ และอาจมีเหตุการณ์กรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งทำให้การจัดทำและอนุมัติ งบประมาณไม่แล้วเสร็จทันตามระยะเวลาที่กำหนด

           ดังนั้น เพื่อความยืดหยุ่นและคล่องตัวพอสมควร จึงเห็นควรกำหนดสัดส่วนวงเงินเผื่อไว้    (โดยกรอบของกฎหมาย สามารถกำหนดสัดส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ตามความจำเป็น)   เพื่อใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 ไปพลางก่อนได้อย่างไม่ขาดตอน และไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมประชาชน และประเทศชาติ     โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่จะนำมาใช้จ่าย    ในสัดส่วนของวงเงินงบประมาณตามพระราช บัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ดังนี้

                (1) งบประมาณรายจ่ายสำหรับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จัดสรรงบประมาณ
ได้ไม่เกินสามในสี่ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละแผนงบประมาณ

                (2) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง และงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนจัดสรร
งบประมาณได้ไม่เกินสามในสี่ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละรายการ

                (3) ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หรือที่มีการรวม การโอน หรือการยุบหน่วยงานและมีบทบัญญัติ ของกฎหมายให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.  2549   เช่น  การจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นใหม่  เป็นต้น จัดสรรงบประมาณได้ไม่เกินจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละแผนงบประมาณที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

           4. เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินมิให้เกิดความเสียหายแก่     ระบบเศรษฐกิจ   สังคม   ประเทศชาติ และอำนวยความสะดวกในการให้บริการสาธารณะแก่      ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง   ในกรณีที่ส่วนราชการ     รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานคร   และเมืองพัทยา   มีความจำเป็นต้องจ่ายเงิน  หรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ ตามข้อ 3 เห็นควรกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเฉพาะในกรณี ดังต่อไปนี้

                (1) มีข้อผูกพันตามสัญญา
                (2) ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
                (3) มีความจำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

           5. เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.  2550       มีผลใช้บังคับแล้วเห็นควรกำหนด เงื่อนไขในการหักงบประมาณรายจ่าย     ที่ได้ใช้จ่ายไปตามหลักเกณฑ์       และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2549 ไปพลางก่อน โดยให้สามารถหักงบประมาณรายจ่ายในแต่ละรายการและแผนงบประมาณ ทั้งที่เป็น รายการและแผนงบประมาณเดิม หรือรายการและแผนงบประมาณที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่    ตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ที่แถลงต่อรัฐสภา    หรือตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน     และแผนปฏิบัติราชการ        ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2550

           6. เพื่อให้การบริหารงบประมาณไปพลางก่อนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย     เห็นควรมอบหมายให้สำนักงบประมาณ กำหนดวิธีปฏิบัติในการบริหารงบประมาณ  และการหักงบประมาณรายจ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขฯ    ได้ตาม ความจำเป็น

เรื่องที่ 11

การจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินเรนทร


          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินเรนทร เป็นหน่วยงานในสำนักงาน
ปลัดกระทรวง หรือกรมอื่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ