การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้ส่วนราชการและจังหวัดดำเนินการนั้น มีวัตถุประสงค์หลักในอันที่จะยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของหน่วยงานสู่มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ
การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดขอบเขตการดำเนินการครอบคลุมเพียง 8 ส่วนราชการประจำจังหวัด จึงเป็นเพียงก้าวแรกของการดำเนินการในระดับจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นการบริหารแบบองค์รวม ดังนั้น การยกระดับเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของจังหวัดตามรูปแบบที่สมบูรณ์ จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมหน่วยงานทุกส่วนที่มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคทั้งหมด
ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. โดย กลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 4 ภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จึงได้จัดกิจกรรม การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในจังหวัดต้นแบบ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษารูปแบบและวิธีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐที่ครอบคลุมการดำเนินการของส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 27 ส่วนราชการ เพื่อใช้เป็นรูปแบบและแนวทาง ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพิจารณาคัดเลือกจังหวัดนครราชสีมา เป็น จังหวัดต้นแบบ ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานนั้น ได้แบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ โครงการระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 โดยผลผลิตขั้นสุดท้ายจะดำเนินการได้ถึงขั้นตอนการจัดทำแผนปรับปรุงองค์กร
โครงการระยะที่ 2 เป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยผลผลิตขั้นสุดท้ายจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเครื่องมือทางการบริหารมาใช้ เพื่อการปรับปรุงองค์กรในจังหวัดต้นแบบ การส่งเสริมสนับสนุนการนำแผนปรับปรุงองค์กรไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการของจังหวัดต้นแบบ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
สำหรับการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 นั้น สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เข้าไปดำเนินการให้ความรู้และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคณะทำงานของจังหวัดนครราชสีมา โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2550 และสิ้นสุดโครงการระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา สำหรับแนวทางในการดำเนินการนั้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ.ร. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เข้าไปส่งเสริมจังหวัดนครราชสีมาในลักษณะของการ Grooming โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ 9 ขั้นตอน และใช้ระยะเวลาดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 9 ครั้ง รวม 22 วัน ดังนี้
ตารางการดำเนินงาน
วันที่ดำเนินการ |
การอบรม/การให้คำปรึกษาแนะนำ |
25 27 เมษายน 2550 |
การให้ความรู้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ( PMQA ) |
8 9 พฤษภาคม 2550 |
การหาความต้องการผู้มีส่วนได้เสียและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง |
28 29 พฤษภาคม 2550 |
การตรวจวัดสภาพผลการดำเนินงานองค์กร |
11 13 มิถุนายน 2550 |
การประเมินองค์กรด้วยตนเอง ( Self Assessment ) |
4 5 กรกฎาคม 50 |
การวางแผนกลยุทธ์ ครั้งที่ 1 |
27 -28 สิงหาคม 2550 |
การวางแผนกลยุทธ์ ครั้งที่ 2 |
29 30 สิงหาคม 2550 |
การวางแผนปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 |
4 7 กันยายน 2550 |
การวางแผนปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 |
25 26 กันยายน 2550 |
การนำเสนอแผนรายหน่วยงาน และพิธีปิดโครงการระยะที่ 1 |
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
ในการดำเนินโครงการจังหวัดต้นแบบ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนสิ้นสุดการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้แก่คณะทำงานของจังหวัด รวมทั้งได้มีการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย โดยมีขั้นตอนการให้องค์ความรู้ สรุปได้ ดังนี้
การอบรมให้ความรู้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA)
การตอบคำถามตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 7 หมวด 105 คำถาม
การประเมินตนเอง (Self Assessment) เพื่อหาจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุง (OFI) และการประเมินคะแนนตามแนวทางของเกณฑ์ฯ
การอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการเชิงกลยุทธ์
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก สภาพแวดล้อมภายใน และการดำเนินงานในอดีต
การกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์
การกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์
การกำหนดแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map)
การนำยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติโดยอาศัยหลัก Balanced Scorecard
การจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อปรับปรุงของจังหวัด
การจัดทำรายงานสภาพผลการดำเนินงานขององค์กร
แนวทางและวิธีการในการตรวจวัดสภาพผลการดำเนินงานขององค์กร ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีส่วนราชการเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 37 ส่วนราชการนั้น ในการพิจารณาตอบคำถามตามเกณฑ์ PMQA ทั้ง 7 หมวด จะดำเนินการ โดยให้ทุกส่วนราชการตรวจวัดสภาพผลการดำเนินการของหน่วยงานตามเกณฑ์ PMQA ทั้ง 7 หมวด โดยดำเนินการแยกเป็นรายส่วนราชการก่อน จากนั้นจึงนำผลการตรวจวัดสภาพผลการดำเนินการของแต่ละส่วนราชการ มาบูรณาการตามรายหมวดจนครบทั้ง 7 หมวด ให้เป็นภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา
ผลการตรวจวัดสภาพผลการดำเนินงานขององค์กร
ผลการตรวจวัดสภาพผลการดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ทั้ง 7 หมวดในภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคณะทำงานของจังหวัดได้ดำเนินการวิเคราะห์จากผลการตอบคำถามตามเกณฑ์ PMQA จำนวน 105 คำถาม เมื่อพิจารณาแยกผลการประเมินตามรายหมวด และรายหัวข้อ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จะปรากฏผลสรุปได้ ดังนี้
ต่อหน้า 2 ...
ณรงค์ & อนุสรณ์ (ภ.นวัตกรรมฯ) / เรื่อง & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ