รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย
เสนอตอน นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) นำเสนอเรื่องของ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ซึ่ง
ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ 2 ท่าน
มาเป็นตัวแทนนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)
ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการฯ นั่นคือ คุณสุรเชษฐ์ ศศิพงศ์ไพโรจน์ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 และ คุณเกษดา สุทธิอัมพร นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 6 โดยมี คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ดำเนินรายการ
รายการเริ่มจากรายงานพิเศษเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ โดยท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ซึ่ง
กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545
ได้มีการนำเรื่องหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเข้ามาใช้
ในระบบราชการ
แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์คงไม่ใช่แค่การนำเทคนิควิธีการ
สมัยใหม่เข้ามาใช้ แต่อยู่ที่เรื่องของการปรับเปลี่ยนความคิด กระบวนทัศน์
และพฤติกรรมของข้าราชการ แต่สิ่งที่เรายังขาดอยู่คือ
คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบราชการเนื่องจากบางส่วนเพิ่งจบการศึกษา
ยังไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องของวิธีการปฏิบัติราชการ
ก็ต้องเตรียมคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติราชการแนวใหม่
อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เลขาธิการ
ก.พ.ร. กล่าว
จากนั้นพิธีกร คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ได้สัมภาษณ์นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ทั้ง 2 ท่านถึงแรงจูงใจ ประสบการณ์ต่างๆ และสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า
ทำไมจึงตัดสินใจมาสมัคร นปร.?
สุรเชษฐ์ :
ก่อนหน้านี้เคยทำงานเอกชนมาก่อน จากนั้นจึงออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
รู้สึกว่าเราได้ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อครอบครัวไปแล้ว
วันหนึ่งก็อยากจะทำอะไรเพื่อคนหมู่มาก เพื่อประชาชนดูบ้าง
จนกระทั่งมีญาติผู้ใหญ่ได้แนะนำโครงการนี้
เมื่อได้อ่านรายละเอียดแล้วก็เกิดความสนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการ
เกษดา :
สาเหตุที่ตัดสินใจมาสมัคร
เนื่องจากเมื่อก่อนได้รับทุนเรียนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก
ทำให้อยากนำความรู้ความสามารถมาใช้อย่างถูกที่ถูกทาง
เมื่อได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการพัฒนานักบริหาร การเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
ก็รู้สึกทันทีว่าเป็นโครงการที่แปลกใหม่
แตกต่างจากการคัดเลือกเข้ารับราชการทั่ว ๆ ไป
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักสูตรการเรียนและวิธีการคัดเลือก
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายมาก
ในส่วนของการสอบคัดเลือกเข้ามาเป็น นปร. ได้ทราบว่าค่อนข้างยากจริงหรือไม่?
เกษดา :
ก็จะมีขั้นตอนการคัดเลือกค่อนข้างมาก โดยมีการสอบ 3 ขั้นตอน
ตั้งแต่การสอบทั่วไปความรู้พื้นฐาน สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เชาว์ปัญญา
หรือ IQ
สุรเชษฐ์ : มีสอบจิตวิทยา ซึ่งเป็นการทดสอบด้านความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ด้วย ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นการสอบสัมภาษณ์
ระยะเวลาในการเรียน และหลักสูตรเป็นอย่างไรบ้าง? สุรเชษฐ์ :
จะมีหลักสูตรทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ
ท่าน และได้เข้าไปฝึกงานในหลาย ๆ ส่วน
ในระดับกระทรวงได้ไปฝึกที่กระทรวงสาธารณสุข ทำงานกับท่านปลัดกระทรวง
ได้เรียนรู้ในแง่ของทักษะการวางกรอบความคิดเชิงนโยบายซึ่งถือว่ามีความสำคัญ
มาก จากนั้นก็ได้ไปเรียนรู้ในระดับเอกชนที่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด
(มหาชน) โดยไปฝึกงานกับท่านรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ก็จะได้เรียนรู้โครงสร้างของหน่วยงานภาคเอกชน
รวมถึงความต้องการของภาคเอกชนเชื่อมโยงกับนโยบายภาครัฐ
ที่อาจจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเข้ามาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนว่า
มีความต้องการอย่างไร
ส่วนระดับภูมิภาคก็ได้ลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้านที่จังหวัดลำปาง
ถือว่าได้พบเจอสังคมไทยในอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
ได้เข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนจริง ๆ เป็นการเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโอกาสไปฝึกงานที่สถานทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ
ศรีลังกา
ได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายของประเทศไทยที่ออกไปสู่สากลทั้งในด้านความ
สัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบต่าง ๆ
การนำนโยบายต่างประเทศไปสู่การปฏิบัติ
ซึ่งระยะเวลาในการเรียนตลอดหลักสูตรทั้งหมดก็ประมาณ 22 เดือน
และถือว่าเป็นข้าราชการตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการ เกษดา :
ในส่วนของตนเองก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเรียน และก็มีการลงพื้นที่แล้ว
คือ ได้ไปที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ได้เรียนรู้รับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ว่ามีปัญหาอย่างไร
ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไร เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นก็ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดกาญจนบุรี
ได้เรียนรู้ภาพรวมโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัด
รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นก็เป็นการลงพื้นที่ในส่วนภูมิภาคซึ่งก็ได้มีโอกาสไปที่จังหวัดระยอง
ส่วนการเรียนในห้องเรียนก็จะได้เรียนรู้ในระดับวิชาการที่เข้มข้น
อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ
ท่านมาให้ความรู้ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก
นอกจากการเรียนในส่วนของวิชาการปกติแล้ว
ก็ยังมีโอกาสได้เรียนภาษาบาฮาซา
เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ที่ไหนแน่นอน
การพูดคุยสนทนากับนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ หรือ
นปร.ทั้ง 2 ท่านในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นแนวคิด
รวมถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักปฏิบัติ
และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบราชการให้ก้าวหน้า
บรรลุเป้าหมายภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ทั้งนี้ สำหรับโครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ได้ดำเนินการมาเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว และอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 7 โดยจะเปิด
รับสมัครไปจนถึงวัน 10 มกราคม 2556
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 9 โซน W1
โทร. 0 2141 9017 - 8 (www.igpthai.org) หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. โทร. 0 2356 9999 ต่อ 8842 8838 9947 (www.opdc.go.th)
อักสรณ์ (สลธ.) /ข่าว
สุปรียา (สลธ.) /ภาพ
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.) /จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 8 มกราคม 2556 10:10:27 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 มกราคม 2556 10:10:27